คุณเคยไหมครับ ได้รับข้อเสนอที่ดีอย่างไม่น่าเชื่อ
"สวัสดีเพื่อนรัก ฉันเป็นลูกสาวของอดีตประธานาธิบดีประเทศหนึ่งในแอฟริกา คุณพ่อฉันเพิ่งถูกยึดอำนาจแต่หนีมาได้พร้อมกับเงินจำนวน 500 ล้านเหรียญสหรัฐแต่ไม่มีที่จะไว้ เราจึงอยากขอใช้บัญชีธนาคารของคุณเป็นที่ใส่เงินก้อนนี้เป็นการชั่วคราว และพร้อมที่จะจ่ายค่าเหนื่อยให้คุณ 10 เปอร์เซนต์ กรุณารีบตอบด้วยถ้าคุณสนใจ"
ถ้าคุณเชื่อคนง่ายและไม่เคยได้รับจดหมายลักษณะนี้ (ซึ่งเขียนเป็นภาษาอังกฤษและหลัง ๆ นิยมส่งทางอีเมลแทนที่จะเป็นทางไปรษณีย์) ก็อาจตื่นเต้น "เฮ้ย 10 เปอร์เซนต์นี่ 50 ล้านเหรียญเชียวนะเว้ย"
แต่ถ้าคุณเคยได้ยินภาษิตที่ว่า If something sounds too good to be true, it usually is. = ถ้าบางอย่างฟังดีเกินกว่าที่จะเป็นความจริง มันก็มักจะเป็นอย่างนั้นแหละ (คือไม่ใช่ความจริง) ก็อาจถามตัวเองว่า What's the catch?
catch ในที่นี้ไม่ได้เป็นกริยาแปลว่า จับ (เช่นปลา) หรือ รับ (เช่นลูกบอล) นะครับ แต่เป็นนาม แปลว่า เงื่อนไขที่พลิกสถานการณ์ เช่นข้อยกเว้น
ถ้าคุณตอบจดหมายไป ก็จะได้รับจดหมายตอบกลับมาว่าธุรกรรมนี้มีค่าธรรมเนียมเสี้ยวเล็ก ๆ ของเงินก้อนโต ดังนั้นขอให้ส่งเงินทาง Western Union ไปให้นายคนนี้ ๆ ก่อนจำนวน 5,000 เหรียญเพื่อที่จะได้เริ่มดำเนินการได้
นั่นแหละครับคือ catch ฟังดูสมเหตุสมผลนะครับ ก่อนที่คุณจะได้รับเงินมหาศาลคุณจะต้องจ่ายเงิน "เล็กน้อย" เป็นค่าธรรมเนียมก่อน
ประเด็นคือว่าเงินมหาศาลนั้นเป็นแค่เหยื่อที่เอามาล่อให้คุณหลวมตัวจ่ายเงิน "เล็กน้อย" นั้น
การต้มตุ๋นลักษณะนี้มีหลายรูปแบบที่แตกต่างกันไปครับ ที่ผมยกตัวอย่างมานี้เป็นเทคนิคคลาสสิคที่เรียกว่า Nigerian scam ตามชื่อประเทศที่เป็นแหล่งนวตกรรมการต้มตุ๋นแบบนี้ (scam = การหลอกลวงต้มตุ๋น)
นอกจากนั้นที่คุณอาจเคยเห็นใน email inbox ก็มี lottery scam คือแทนที่จะหลอกขอใช้บัญชีธนาคารเพื่อฝากเงินก้อนโตไว้ชั่วคราวก็หลอกว่าคุณถูกล็อตเตอรี่รางวัลมหาศาล
แต่ทั้งหมดใช้หลักการเดียวกันครับ คือหลอกเหยื่อให้จ่ายเงินล่วงหน้าโดยหวังว่าจะได้เงินก้อนมหึมาเป็นการตอบแทนภายหลัง
ถ้าคุณอยากรวยลัดอาจพอมีวิธี แต่อีเมลแบบนี้เป็นทางรวยลัดเฉพาะสำหรับคนที่หลอกคุณสำเร็จ ทางที่ดีอย่าตอบดีกว่าครับ ถามตัวเองซะก่อนว่า What's the catch?
อีกสำนวนหนึ่งที่เกี่ยวข้องกันคือ Catch-22
Catch-22 หมายถึงสถานการณ์ที่แก้ไม่ตกเพราะกติกาและเงื่อนไขต่างๆ (โดยเฉพาะอย่างยิ่งของราชการ) ขัดกันเอง
สำนวนนี้มาจากนิยายชื่อเดียวกันของ Joseph Heller
พระเอกของเรื่องเป็นนักบินช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง อยากขอรับการประเมินสุขภาพจิตเพื่อจิตแพทย์จะได้วินัจฉัยว่าสติไม่ดี ส่งไปบินเสี่ยงตายไม่ได้ เพราะผิดมนุษยธรรม
แต่ตามระเบียบมีเงื่อนไขที่เรียกว่า Catch-22 บอกว่าการขอรับการประเมินสุขภาพจิตนั้นเป็นตัวบ่งชี้ว่านักบินสติดีพอที่จะรักตัวกลัวตาย ดังนั้นย่อมอยู่ในวิสัยที่จะถูกส่งไปปฏิบัติการบินเสี่ยงตายได้
พูดง่ายๆ คือไม่ว่าจะสติดีหรือไม่ดีก็จะถูกส่งไปบินเสี่ยงตายอยู่ดี
หรือสมมุติว่าคุณต้องการให้ตำรวจอารักขาแต่ทางการมีเงื่อนไขว่าจะต้องเลิกกิจกรรมการเมืองเสียก่อน แต่ถ้าเลิกกิจกรรมการเมืองก็ไม่จำเป็นต้องมีตำรวจอารักขา
สรุปได้ว่าถึงยังไงคุณก็ไม่มีทางออกที่ดีอยู่ดี ถือได้เหมือนกันว่าเข้าข่าย catch-22
อีกตัวอย่างนะครับ ถ้าคุณเคยดูหนังเรื่อง Shrek คงจำได้ว่าเจ้าหญิง Fiona เป็นนางเอกที่เลอโฉมเพียบพร้อมทุกอย่าง
แต่มี catch อย่างเดียว คือเธอถูกสาปให้ตอนกลางคืนต้องกลายร่างเป็นนางยักษ์ขมูขีประเภทที่ฝรั่งเรียกว่า ogre (โอ๊เก่อร์) ที่ไม่เลอโฉมแต่เรอดัง
ครับ I hate to burst your bubble. = ผมไม่อยากเอาเข็มจิ้มลูกโป่งสดใสหวานแหววของคุณให้แตก แต่ในโลกนี้ไม่มีอะไรหรอกครับที่เพียบพร้อมสมบูรณ์แบบอย่างที่เราหวัง ทุกอย่างจะมีเงื่อนไขซ่อนเร้นที่อาจทำให้ภาพสวยหรูที่เราวาดไว้กลับกลายเป็นดำมืดได้
แต่อย่างน้อยทีนี้เวลาใครมาเสนอขายอะไรให้คุณ บอกว่าจะทำให้ชีวิตคุณเปลี่ยนแปลงชั่วข้ามคืน อย่าลืมถามตัวเองก่อนแล้วกันนะครับว่า What's the catch?
Session expired
Please log in again. The login page will open in a new tab. After logging in you can close it and return to this page.