ในหนังเรื่อง Gandhi มีอยู่ฉากหนึ่งที่ผู้ชายชาวอินเดียหลายร้อยคนมาประชุมกันเพื่อฟังทนายหนุ่มปากกล้า โมฮันดัส คานธี อภิปรายประณามกฎหมายอังกฤษที่ไม่เป็นธรรมต่อชาวอินเดีย โดยในหอประชุมมีเจ้าหน้าที่อังกฤษเข้าไปสังเกตการณ์ด้วยหยิบมือหนึ่ง
การชำแหละกฎหมายฉบับนั้นโดยคานธีตีแผ่ความเหี้ยมของรัฐบาลอังกฤษต่อคนที่อยู่ภายใต้การปกครอง จนชาวอินเดียในหอประชุมพากันอารมณ์เดือดพล่านอยากจะลุกขึ้นไปต่อกรกับอังกฤษ เป็นตายร้ายดีก็ช่างมัน เริ่มจากไอ้พวกที่นั่งหน้าสลอนอยู่นี่เป็นไร
แต่คานธีพลิกเกม บอกว่าชื่นชมความหาญกล้าของพี่น้อง แต่ที่ต้องการคือความกล้าอีกแบบ การต่อสู้ไม่จำเป็นต้องไปเข่นฆ่าใคร และทำได้โดยไม่ใช้ความรุนแรง ข้าพเจ้ายอมตายเพื่ออุดมการณ์ที่เชื่อ แต่ไม่มีอุดมการณ์ใดจะทำให้ข้าพเจ้ายอมฆ่าคนอื่น
ชาวอินเดียเริ่มปรบมือกันทีละคนจนทั้งหอประชุมปรบมือกันดังสนั่น
แล้วจู่ๆ ชาวอินเดียก็ลุกขึ้นยืนกันทีละคนจนทุกคนในนั้นยืนกันหมด ยกเว้นเจ้าหน้าที่อังกฤษ ซึ่งสีหน้างุนงงว่าไอ้พวกนี้จะมาไม้ไหนกัน
แต่แล้วความเครียดก็หายไปเมื่อคานธีเป็นต้นเสียงขึ้นเพลง God Save the King
คอภาพยนตร์สมัยใหม่หลายคนไม่ทราบว่าตั้งแต่ช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง ภาพยนตร์ งานมหรสพ หรืองานสาธารณะต่างๆ ในประเทศอังกฤษจะต้องปิดด้วยเพลง God Save the King ซึ่งเป็นเพลงชาติของอังกฤษและอาณานิคม และหลังจากพระนางเจ้าเอลิซาเบธที่ 2 ขึ้นครองราชย์เพลงเดียวกันนี้ก็ปรับเนื้อเล็กน้อยเป็น God Save the Queen
เมื่อเวลาผ่านไป คนเริ่มลืมว่าในช่วงสงครามพระราชินีเคยขับรถพยาบาลช่วยเหลือคนที่ได้รับบาดเจ็บจากการทิ้งระเบิดโดยเยอรมัน ความกษัตริย์นิยมก็เริ่มจางหาย เวลาหนังใกล้จบ คนดู (โดยเฉพาะหนุ่มสาว) ก็เดินพาเหรดกันออกจากโรงก่อนที่เพลง God Save the Queen จะขึ้นบรรเลง
ส่วนในอาณานิคมอังกฤษ เพลง God Save the Queen จะบรรเลงก่อนหนังเริ่มฉาย เพราะพบว่าถ้าเปิดตอนหนังจบคนจะพากันแห่กันออกจากโรงก่อนหนังจบ (แบบเดียวกับที่อังกฤษ) และก็มีบางกรณีที่คนหนุ่มสาวทะเลาะเบาะแว้งกับผู้สูงอายุที่รับไม่ได้กับการไม่ยืนแสดงความเคารพ
เมื่อบรรยากาศทางวัฒนธรรมเปลี่ยนไปและไม่มีกฎหมายบังคับว่าจะต้องเปิดเพลง God Save the Queen ในโรงหนัง ประเพณีก็ค่อยๆ จางหายไปทีละโรงสองโรง จนปัจจุบันไม่เหลือโรงหนังใดแล้วที่เปิดเพลงนี้
ถึงกระนั้นก็ตามยังมีบางประเทศเช่นอินเดียที่ยังบรรเลงเพลงก่อนหนังฉาย แต่เป็นเพลงชาติ ไม่ใช่ God Save the Queen เพราะมีกฎหมายกำหนดไว้
ที่เล่ามาทั้งหมดนี้ส่วนหนึ่งก็เพื่อเป็นการเล่าสู่กันฟัง อีกส่วนหนึ่งก็เพราะมีคำถามเกี่ยวกับเพลง God Save the Queen จากคุณคมสัน
1. God save the queen * God ในที่นี้ดูเหมือนจะเป็นเอกพจน์ ทำไม Verb ไม่เติม s ครับ
ตอบสั้นๆ ก็คือ เพราะไม่ใช่ประโยคบอกเล่า (declarative sentence) ครับ
God save the Queen เป็นการใช้กริยาใน subjunctive mood ซึ่งเป็นการแสดงความปรารถนาหรืออธิษฐาน ทำนองโอมเพี้ยง ขอให้พระเจ้าจงคุ้มครองพระราชินีเถิด
เมื่อเป็นเช่นนั้น ประโยคจะไม่เป็นรูปบอกเล่า ซึ่งใช้กริยาบุรุษที่สามเอกพจน์ แต่เป็นกริยาบุรุษที่สองเอกพจน์แทน
วิธีจำง่ายๆ คือสมมุติว่ามีคำว่า may นำหน้า เป็น May God save the Queen. = ขอให้พระเจ้าจงคุ้มครองพระราชินี
รูปประโยคที่ใช้กริยาใน subjunctive mood ความจริงมีไม่มากครับ นอกจาก God save the Queen. แล้วก็ยังมีอีก เช่น Heaven help us. = ขอให้สวรรค์ช่วยเราเถิด God bless you. = ขอให้พระเจ้าให้พรคุณ Heaven forbid. = ขอให้อย่าเป็นเช่นนั้นเลย
2. ประโยค We don’t need no education จากเพลงหนึ่ง ในประโยคพูดจริง ๆ เราสามารถพูด We don’t need education โดยที่ไม่ต้องมี no ได้ใช่ไหมครับ และที่เพลงต้องใส่ no อีก เพื่อให้ครบคำ ครบทำนอง (โดยที่ไม่มีความหมาย) หรืออย่างไรครับ?
ถูกของคุณครับ เพลงที่คุณพูดถึงคือ Another Brick in the Wall, Part 2 ของ Pink Floyd และรูปประโยคที่คุณสงสัยคือ double negative = ลบซ้อน ซึ่งผิดไวยากรณ์มาตรฐาน แต่มักใช้ในเพลงป๊อปเพื่อแสดงถึงความเป็นกันเองหรือความไม่มีการศึกษา
จริงครับ ถ้าไม่ใช้ no ในประโยคก็จะได้ความหมายเดียวกันแลเถูกไวยากรณ์ด้วย แต่เมื่อใส่ no ก็จะแสดงว่าเด็กที่ร้องประโยคนี้เป็นเด็กที่ไร้การศึกษาแต่หลงว่าตัวเองไม่จำเป็นต้องมีการศึกษาหรือไม่แคร์ว่าตัวเองไม่มีการศึกษา ขอให้อย่ามายุ่งกับเราก็พอแล้ว
เพลงนี้มีการตีความต่างๆ นานา ที่นิยมมากที่สุดคือมองว่าเป็นเพลงที่เด็กประท้วงระบบการศึกษาที่ทำให้เด็กแต่ละคนเป็นแค่อิฐก้อนหนึ่งในกำแพง ไม่ได้มีคุณค่าอะไรไปมากกว่านั้น
ถ้าย้อนมาดูสังคมก็พบว่าการตีความแบบนี้ก็มีประเด็นเหมือนกัน เพราะในหลายประเทศ การศึกษาไม่ได้ส่งเสริมให้เด็กแต่ละคนมีคุณค่าหรือความพิเศษเฉพาะตัว แต่มีเป้าหมายเพียงเพื่อผลิตคนป้อนตลาดแรงงานในระบบทุนนิยม