เลิกเหล้า

August 19, 2020

คุณคมสันฯ เขียนอีเมลมาขอให้ผมลงที่เคยเขียน "เกี่ยวกับผลกระทบอันไม่ตั้งใจที่เกิดจากการห้ามจำหน่ายสุราในยุค 1920’s   เช่น เกิดอาชญากรรมมากขึ้น ฯลฯ อยากจะให้คุณบ๊อบนำมาลงในเว็บไซท์ของคุณบ๊อบอีกครั้ง"

ด้วยความยินดีครับ

คนอเมริกันเป็นชาติที่นิยมการดื่มไม่น้อย หลายคนดื่มไม่น้อยจนมีสำนวนว่า to drink like a fish = ดื่มเหมือนปลา = ดื่มจัด

เพลงที่กล่าวขวัญถึงเหล้าเบียร์ก็มีมากมาย เช่น Red, Red Wine ของ Neil Diamond ซึ่ง UB40 เอามาทำใหม่จนโด่งดังกว่าฉบับดั้งเดิม Margaritaville ของ Jimmy Buffett และที่คนไทยรุ่นราวคราวผมรู้จักดีคือ Lightning Bar Blues ซึ่ง Brownsville Station มาทำให้คนไทยติดหูจนแปลงเนื้อเป็นเพลง “เมาจนหัวทิ่มบ่อ”

สำนวนที่ผูกพันกับเหล้าก็มีเช่น to drown (one’s) sorrows in drink = การทำให้ความโศกเศร้าจมน้ำตายในเหล้า

Frida Kahlo จิตรกรหญิงชาวเม็กซิกันผู้มี unibrow (ยู้หนี่บร่าว) = คิ้วสองข้างเชื่อมติดกันเป็นเส้นเดียว เคยกล่าวว่า I tried to drown my sorrows, but the bastards learned how to swim. = ฉันพยายามจมความโศกเศร้า แต่ไอ้พวกนั้นมันดันหัดว่ายน้ำจนเป็น (bastard (แบ๊สเติร์ด) เป็นคำไม่สุภาพนะครับ แปลตรงตัวว่า ลูกไม่มีพ่อ แต่มักใช้เป็นคำด่า)

ถ้าคุณดื่มเป็นประจำและดื่มมาก ก็อาจใช้สำนวน hit the bottle ที่ไม่ได้แปลว่า ตีขวด แต่แปลว่า ดื่มสุรา เช่น He’s been hitting the bottle ever since his daughter died. = เขาดื่มเหล้าเป็นประจำตั้งแต่ลูกสาวเขาตาย

คำที่ใช้เรียกสุรา นอกจาก liquor (ลิกเข่อร์) หรือ alcohol (แอ๊ลขะห่อล) ที่เป็นคำธรรมดาแล้ว อาจเรียกเป็นสแลงว่า sauce (ซ่อส) หรือ booze (บู้ซ) ก็ได้ครับ เช่นเวลาคุณไปงานเลี้ยงที่ป้ายเชิญเขียนตัวย่อว่า BYOB ก็หมายความว่าให้คุณเอาเหล้าไปเอง เพราะเจ้าภาพอาจไม่มีให้ เป็นตัวย่อจาก Bring Your Own Bottle หรือ Bring Your Own Booze

สหรัฐฯ เคยพยายามบังคับให้คนอเมริกันเลิกดื่มเหล้าโดยถึงกับออกเป็นกฎหมาย จนกลายเป็นตัวอย่างของความตั้งใจดีที่ส่งผลร้ายอย่างมหาศาล

ก็คงเหมือนหลายๆ อย่างในโลกแหละครับที่เริ่มต้นด้วยเจตนาดี แต่พอทำเข้าจริงๆ ก็เปิดช่องทางแสวงผลประโยชน์ มีการคอรัปชั่นรูปแบบใหม่ๆ ฯลฯ อันเป็นที่มาของภาษิต The road to hell is paved with good intentions. = เส้นทางสู่นรกปูด้วยความตั้งใจดี

สหรัฐอเมริกาเป็นประเทศที่ก่อตั้งโดยชาวยุโรปที่หนีการกดขี่ข่มเหงทางศาสนา จึงมีความเชื่อในพระเจ้าที่ค่อนข้างแรงกล้าเป็นทุนเดิม เช่นมีคำขวัญว่า One nation under God. = ชาติหนึ่งเดียวภายใต้พระเจ้า In God we trust. = ในพระเจ้าเราวางใจ (เราวางใจในพระเจ้า)

ภายใต้บรรยากาศที่เลื่อมใสศรัทธาในพระเจ้าเช่นนี้ การดื่มสุราย่อมเป็นที่รังเกียจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อนำไปสู่ความมึนเมาขาดสติ

เดิมทีพวกเคร่งศาสนาถือว่าการดื่มพอประมาณไม่ผิด ถ้าดื่มพอดีๆ เดินทางสายกลางแบบสุราเมระยะมัจฉิมาปฏิปทาก็รับได้

การรู้จักพอดี รู้จักควบคุมตัวเอง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในการเสพหรือบริโภคสิ่งที่ชื่นชอบ เรียกว่า temperance (เท๊มผะหรั่นส) ซึ่งกลายเป็นคำสำคัญในการรณรงค์ต่อต้านการดื่มสุรา

ในปีเดียวกันกับที่ฝรั่งเศสมีการปฏิวัติเพื่อเรียกร้องเสรีภาพ ความเท่าเทียม ภราดรภาพ ที่สหรัฐก็เริ่มมีการก่อตั้ง temperance societies = สมาคมส่งเสริมความรู้จักพอดีในการดื่ม

แต่คนเมาย่อมไม่รู้ว่าความพอดีอยู่ตรงไหน สมาคมเหล่านี้จึงค่อยๆ หมดความอดทนและกลายเป็นสมาคมต่อต้านสุรา แต่ยังใช้คำว่า temperance อยู่ คำนี้จึงความหมายผิดเพี้ยนมาเป็น การไม่ดื่มสุรา (คงทำนองเดียวกับความหมายของ “ประชาธิปไตย" สมัยนี้มังครับ)

ผู้ส่งเสริมการเลิกสุราเจ้าหลักคือกลุ่มศาสนา โดยเฉพาะอย่างยิ่งชาวนิกาย Methodist ช่วงสงครามกลางเมืองซบเซาไปพักหนึ่ง แต่หลังจากนั้น กระแส dry movement = กระบวนการงดดื่มสุรา ก็ค่อยๆ กลับมาแรงอีกที ถึงกับมีการตั้งพรรคการเมืองชื่อ Prohibition Party ซึ่งชู prohibition (โพรหิบิ๊ฉึ่น) = การห้าม การผลิตและจำหน่ายสุรา เป็นนโยบายหลัก

สถานการณ์ย่อมสร้างวีรบุรุษ และกระแสต่อต้านสุราก็ได้วีรสตรีในรูปของหญิงร่างสูงใหญ่แห่งรัฐ Kansas (แค้นสัส) ชื่อ Carrie Nation

Carrie Nation เป็นหม้ายผู้สูญเสียสามีให้กับเหล้า บอกว่าได้ยินเสียงพระเจ้าสั่งให้ไปทำลายร้านเหล้า เธอก็เลยเดินอาดๆ เข้าไปในร้านเหล้าแล้วประกาศว่า Men, I have come to save you from a drunkard’s fate. = นี่ พวกคุณ (ผู้ชาย) ฉันมาช่วยพวกคุณให้รอดพ้นจากชะตากรรมคนขี้เหล้า แล้วก็ควักเอาขวานที่พกมาด้วยทุบทำลายขวดเหล้าในร้านจนเรียบ

วิธีของ Carrie Nation คือถือ hatchet (แฮ็ทฉึท) = ขวานที่ถือด้วยมือเดียว เดินอาดๆ เข้าไปในร้านเหล้าซึ่งเต็มไปด้วยผู้ชาย พร้อมกับกลุ่มเพื่อนสตรีร้องเพลงสวด แล้วก็ดุว่าพวกคอเหล้าในบาร์ และใช้ขวานฟันขวดเหล้าในร้านแตกกระจายไม่เหลือหลอ

เธอปฏิบัติการไปทั่วรัฐ Kansas ชื่อเสียงโด่งดังจนบาร์หลายแห่งติดป้ายว่า All Nations Welcome but Carrie = ยินดีต้อนรับทุกชาติ (nations) ยกเว้น Carrie

เธอถูกตำรวจจับหลายครั้ง แต่ก็ยินดีให้ปรับทุกครั้ง ไม่เคยอ้างว่าความดีอยู่เหนือกฎหมาย

Carrie Nation กลายเป็นสัญลักษณ์ของกระบวนการต่อต้านสุรา และกระแสนี้ก็แรงขึ้นเรื่อยๆ จนกลายเป็นประเด็นที่ถกเถียงกันอย่างเข้มข้นในแวดวงการเมืองระดับชาติ

ประเด็นว่ารัฐควรห้ามเหล้าหรือไม่ทำให้สังคมอเมริกันแตกแยกเป็นสองฝ่าย คือเสื้อเหลืองกับเสื้อแดง เอ๊ย ไม่ใช่สิ พวก dry กับพวก wet

พวก dry (ครับ ที่แปลว่า แห้ง นั่นแหละ) ต้องการให้รัฐบาลออกกฎหมายห้ามสุรา เพราะมองว่าพวกร้านเหล้าเป็นแหล่งคอรัปชั่นทางการเมือง มีอบายมุข มีการยัดเงินให้เจ้าหน้าที่ ฯลฯ และการดื่มเป็นเรื่องบาป ขัดต่อศีลธรรมอันดี

ส่วนพวก wet (ที่แปลว่า เปียก) ก็มีฝ่ายศาสนาสนับสนุนเหมือนกัน พวกนี้เชื่อว่ารัฐไม่ควรมาทำตัวเจ้ากี้เจ้าการเรื่องศีลธรรมจรรยา ควรให้แต่ละบุคคลเลือกเองว่าจะดื่มหรือไม่ โตๆ กันแล้ว

ในรัฐสภาเองเสียงฝ่าย dry มาแรงกว่าอย่างท่วมท้น ข้อเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญให้มี prohibition = การห้าม (สุรา) จึงผ่านฉลุยในปี ค.ศ. 1919 และมีผลบังคับใช้ในปีต่อมา โดยกำหนดให้การผลิต จำหน่าย และขนย้ายสุราล้วนเป็นกิจกรรมที่ผิดกฎหมาย

ช่วงเวลาต่อมา ซึ่งเรียกว่า Prohibition (P ตัวใหญ่เพราะเป็นชื่อใช้เรียกยุคนั้น) จึงเป็นยุคทองของคนที่เป็น teetotaler (ทีโท้ถั่ลเหล่อร์) = คนที่ไม่ดื่มสุรา แต่ที่สำคัญกว่านั้นคือเป็นยุคทองของคนที่ตักตวงประโยชน์จากโอกาสทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นใหม่ เพราะอบายมุขอะไรก็ตามที่ถูกรัฐกำหนดให้เป็นเรื่องผิดกฎหมายมักจะเฟื่องฟูอยู่ใต้ดินและทำให้คนที่กล้าฉวยโอกาสนั้นร่ำรวยได้ คนอย่างเจ้าพ่อมาเฟีย Al Capone (แอล ขะโพ่น)

เข้าหลักที่ว่าอบายมุขอะไรก็ตามที่เป็นขุมเงินขุมทองแต่ถูกรัฐกำหนดให้เป็นเรื่องผิดกฎหมายมักจะเฟื่องฟูอยู่ใต้ดิน

Prohibition หรือยุคห้ามเหล้า ได้จุดประกายทศวรรษที่เรียกว่า the Roaring Twenties นั่นคือทศวรรษ 1920 ที่สนุกสุดเหวี่ยง

ปกติคำว่า roar (รอรฺ) เป็นกริยาแปลว่า คำราม (เช่น I could tell it was an MGM movie by the roaring lion. = ฉันบอกได้ว่ามันเป็นหนังของ MGM จากสิงโตคำราม)

แต่บ่อยครั้งเราจะเห็นมันใช้คู่กับนาม laughter (แล๊ฟเต่อร์ หรือ ล๊าฟเต่อร์) เช่น He roared with laughter. = เขาหัวเราะอย่างเต็มที่ (คือไม่อั้น อาจจะดัง นาน เงยหน้าหัวเราะ ฯลฯ)

Roar ในบริบทของ the Roaring Twenties ใช้ในความหมายหลังนี้ครับ เพราะเป็นยุคหลังจากที่สงครามโลกครั้งที่หนึ่ง (ซึ่งสมัยนั้นเรียกว่า the Great War เพราะยังไม่มีภาคสอง) สิ้นสุดลงโดยสหรัฐฯ อยู่ฝ่ายผู้ชนะ เศรษฐกิจอเมริกันก็เฟื่องฟู คนมีรถยนต์ขับ มีวิทยุฟัง มีหนังที่มีเสียงให้ดู มีคลับดนตรีแจ๊ซเกิดขึ้น ถึงเหล้าจะผิดกฎหมายแต่ก็หาดื่มไม่ยาก (คล้ายๆ กับการพนันและโสเภณีในเมืองไทยแหละครับ)

การทำให้เหล้าผิดกฎหมายทำให้อาชญากรรมที่เรียกว่า bootlegging (บู๊ทเหล็กกิ่ง) = การผลิตและ/หรือจำหน่ายเหล้าเถื่อน พุ่งกระฉูดจนกลายเป็นอุตสาหกรรม (ผิดกฎหมาย) ระดับหลายล้านเหรียญ

ความจริง bootlegging มีจุดเริ่มต้นจากการเรียกเก็บภาษีเหล้าในอัตราสูงเพื่อพยายามควบคุมให้คนลด ละ หรือเลิกเหล้า

แน่นอนครับ เมื่อกฎหมายสวนทางกับหลักเศรษฐศาสตร์ ก็ย่อมเกิด unintended consequences = ผลที่ไม่ตั้งใจ ขึ้นมา คนอเมริกันก็เหมือนมนุษย์ทั่วไปที่นิยมดื่มเหล้า จะมากหรือน้อยก็แล้วแต่คน แต่การที่ภาษีทำให้ราคาเหล้าสูงขึ้นก็ย่อมเปิดช่องให้เกิดตลาดมืดเพื่อตอบสนองอุปสงค์ของตลาด นั่นคือการลักลอบผลิต นำเข้า หรือจำหน่ายเหล้าเถื่อน

การที่เศรษฐกิจสหรัฐฯ รุ่งเรืองในทศวรรษ 1920 ทำให้มีการฉลองปาร์ตี้กันบ่อย และไม่ฉลองธรรมดาด้วย แต่เป็นการฉลองอย่างสนุกสุดเหวี่ยง (ถ้าคุณดูหนังอย่าง The Great Gatsby หรือ Chicago ก็จะเห็นว่ายุคนั้นเป็นอย่างไร) ดังนั้นหมายความว่าต้องมีเหล้า ถ้าหาซื้อไม่ได้ก็ต้องผลิตเอง ที่เรียกกันว่า bathtub gin = ยินอ่างอาบน้ำ ซึ่งจริงๆ แล้วไม่ได้ผลิตในอ่างอาบน้ำแต่แค่ใช้น้ำจากก๊อกอ่างอาบน้ำ

แต่ bathtub gin เป็นผลิตภัณฑ์ทางเลือกที่รสชาติแย่มากๆ จึงเปิดโอกาสทางธุรกิจให้แก๊งเจ้าพ่อจอมโหดอย่าง Al Capone หรือ Bugs Moran ซึ่งเป็นคู่อริกัน ลักลอบผลิตหรือนำเข้าเหล้าขนานแท้ ผลก็คืออาชญากรเป็นมหาเศรษฐี รัฐสูญเสียรายได้ภาษี และคนก็ไม่ได้ลด ละ เลิกดื่มตามเจตนาของกฎหมาย

ในที่สุดจึงมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญอีกครั้งในปี ค.ศ. 1933 ให้เหล้าไม่ผิดกฎหมายอีกต่อไป กลุ่มต่อต้านเหล้าก็ต้องหาวิธีอื่นที่ไม่ใช่กฎหมายเกลี้ยกล่อมให้คนเลิกหรือลดเหล้า

สมัครเป็นสมาชิก ดาวน์โหลดฟรีอีบุ๊ค "ฟอไฟฟุดฟิดอังกฤษอเมริกัน เล่ม 1"

* indicates required
boonhod@hotmail.com
Copyright (C) 2019 by Jakkrit Srivali. All rights reserved. สงวนลิขสิทธิ์ โดย จักรกฤษณ์ ศรีวลี
>
linkedin facebook pinterest youtube rss twitter instagram facebook-blank rss-blank linkedin-blank pinterest youtube twitter instagram