The Jungle

25-26 สิงหาคม 2553

เมื่อปีค.ศ. 1906 มีนวนิยายเล่มหนึ่งออกมาซึ่งสร้างความแตกตื่นในสหรัฐอเมริกา ทำให้มีการเปลี่ยนแปลงกฎหมายซึ่งยังส่งผลมาถึงทุกวันนี้ และกระทบแบบแผนการบริโภคของทั้งประเทศ

นวนิยายเรื่องนั้นชื่อว่า The Jungle แต่งโดย Upton Sinclair (อัพทัน ซิ้นแขล่ร์) เป็นการเล่าถึงชีวิตของแรงงานต่างด้าวที่เพิ่งเดินทางถึงอเมริกาใหม่ๆ อ่านไม่ออกเขียนไม่ได้ จึงต้องทำงานที่สมัยนี้เรียกกันว่า 3D jobs

3D jobs ไม่ใช่งานสามมิติ ต้องใส่แว่นพิเศษถึงจะทำได้นะครับ แต่หมายถึงงานที่ dirty = สกปรก dangerous = อันตราย และ/หรือ demeaning = ลดศักดิ์ศรี (ความเป็นมนุษย์)

งาน 3D เป็นงานที่มักจะมีรายได้สูงกว่างานระดับเดียวกันทั่วไป เพราะเป็นงานที่ไม่ค่อยมีใครอยากทำ

แต่ขณะเดียวกันการขาดแคลนแรงงานภายในประเทศที่ประสงค์จะทำงาน 3D ก็ทำให้เกิดช่องว่างสำหรับแรงงานจากต่างประเทศที่ยากจนกว่า พวกนี้ไม่เกี่ยงว่าจะสกปรกหรืออันตรายหรือต้องทำงานในสภาพที่ไม่มีศักดิ์ศรี แต่ขอให้มีรายได้ส่งกลับบ้านหรือเลี้ยงดูครอบครัวก็พอ

ไทยเราในปัจจุบันก็มีงาน 3D จำนวนมากที่คนไทยไม่อยากทำ เพราะเห็นว่าค่าจ้างไม่คุ้ม แต่ก็อุดช่องว่างโดยแรงงานต่างด้าวซึ่งมองว่าถึงค่าจ้างจะไม่สูงตามมาตรฐานของไทย แต่ก็สูงกว่าที่บ้านเมืองเขา คุ้มที่จะเสี่ยงทำ

ในสมัยช่วงต้นคริสต์ศตวรรษที่ 20 สหรัฐอเมริกาเริ่มเปลี่ยนจากนโยบาย laissez-faire = การปล่อยให้ภาคเอกชนทำตามใจชอบโดยรัฐบาลเข้ามายุ่งเกี่ยวให้น้อยที่สุด มาเป็นนโยบาย progressive = ก้าวหน้า ซึ่งให้รัฐบาลเข้ามามีบทบาทกำกับควบคุมภาคเอกชนมากขึ้น และนิยายของ Sinclair ก็เป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการเปลี่ยนแปลงครั้งนี้

นวนิยายชื่อ The Jungle อาจทำให้เรานึกถึงป่าดงดิบใช่ไหมครับ แต่นั่นไม่ใช่สิ่งที่ Sinclair เขียนถึง เพราะเขาใช้คำนี้ในเชิงอุปมาอุปมัย บรรยายถึงสภาพชีวิตกรรมกรที่ทำงานใน meatpacking industry = อุตสาหกรรมเนื้อวัว แห่งนครชิคาโก ซึ่งเป็นงานที่เข้าข่าย 3D อย่างสมบูรณ์ และการคอรัปชั่นในทุกระดับที่เกี่ยวข้อง ตั้งแต่หัวหน้าคนงานไปจนถึงตำรวจและผู้พิพากษา

Sinclair ตั้งใจจะเปิดโปงอุตสาหกรรมเนื้อวัวเพื่อเรียกร้องให้สังคมหันมาสนใจชีวิตกรรมกรโรงงานฆ่าสัตว์ที่ต้องทำงานในสภาพเลวร้าย แต่เอาเข้าจริงๆ หนังสือของเขากลับทำให้สังคมตื่นตัวกับสุขลักษณะของเนื้อวัว (โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากฉากในหนังสือที่มีคนงานตกลงไปในเครื่องบดเนื้อโดยไม่มีใครช่วยได้ กลายเป็นเนื้อบดห่อไปวางขายตามตลาด)

หนังสือของ Sinclair ทำให้ยอดขายเนื้อวัวตกฮวบ ประธานาธิบดี Theodore Roosevelt (ซึ่งไม่ค่อยชอบหน้า Sinclair อยู่แล้ว) จำเป็นต้องสั่งให้คนสนิทไปสอบสวนอุตสาหกรรมเนื้อวัวที่ชิคาโกว่าเป็นอย่างที่ Sinclair เขียนจริงหรือไม่ แต่ข่าวนั้นก็ปิดไม่มิด เล็ดรอดถึงหูเจ้าของโรงงานฆ่าสัตว์จนได้

เมื่อเจ้าของโรงงานเนื้อวัวรู้เบาะแสว่าจะมีคนสนิทของประธานาธิบดีมาตรวจสภาพโรงงานก็พยายามจัดฉากให้ดูดีเอาผักชีมาโรย แต่บังเอิญเป็นฝรั่งสมัยเก่าก็เลยไม่รู้จักผักชี จะเอาผักชีฝรั่งที่เรียกว่า parsley (พ้าร์สหลี่) มาโรยหรือก็กระไรอยู่ เพราะปกติ parsley นิยมวางไว้ข้างๆ จานเพื่อความสวยงามมากกว่าที่จะใช้โรยหน้า

สำนวนที่ฝรั่งรู้จักในความหมายทำนองเดียวกันคือ window dressing (วิ้นโด่ว เดร็สสิ่ง) = การตกแต่งหน้าต่าง หมายถึงการตกแต่งให้ดูดีจากภายนอก แต่ข้างในอาจจะเละตุ้มเป๊ะไม่มีดีก็ได้

เนื่องจากขาดความเข้าใจและทักษะด้านผักชีโรยหน้า เจ้าของโรงงานจึงไม่สามารถตบตาผู้ตรวจของประธานาธิบดี Roosevelt (Roos ดูเหมือนน่าจะออกเสียงว่า รูส แบบ rooster = ไก่แจ้ แต่ชื่อเฉพาะในที่นี้ออกเสียงว่า โร้สเฝ่ลท์ ครับ) ได้สำเร็จ เมื่อผู้ตรวจกลับไปรายงานประธานาธิบดีว่าที่ Upton Sinclair เขียนพรรณนาในนวนิยาย The Jungle นั้นไม่ได้ห่างไกลความเป็นจริงเท่าไรนัก

หลังจากนั้นเรื่องก็เข้ารัฐสภา ประชาชนแขยงไม่กล้ากินเนื้อ อุตสาหกรรมเลี้ยงสัตว์ (ไว้ฆ่า) ออกมาตอบโต้ผู้ตรวจอย่างเผ็ดมัน (แม้ว่าไม่ได้ตีพิมพ์เป็นรายงานออกสู่สายตาสาธารณะเพราะประธานาธิบดีกลัวว่าถ้าทำอย่างนั้นอุตสาหกรรมเนื้อวัวมีหวังได้เจ๊งกันพอดี)

โดยที่การเมืองเป็นเรื่องของการประนีประนอม ไม่ใช่การเอาชนะแตกหัก ในที่สุดจึงได้บทสรุปอันเป็นที่พอใจของทั้งผู้บริโภคและของอุตสาหกรรมเนื้อวัว นั่นคือการออกกฎหมาย Meat Inspection Act = รัฐบัญญัติการตรวจเนื้อสัตว์ และ Pure Food and Drug Act = รัฐบัญญัติอาหารและยาบริสุทธิ์ อันจัดตั้งสำนักงานการเคมี ซึ่งกลายมาเป็น Food and Drug Administration (FDA) ต้นแบบของสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาของหลายประเทศ รวมทั้งไทย

ท่านที่รู้จักนิสัยบรรษัทยักษ์ใหญ่อาจสงสัยว่าทำไมอุตสาหกรรมเนื้อวัวถึงยอมให้รัฐควบคุมได้ง่ายๆ อย่างนั้น แต่คงจะร้องอ๋อเมื่อได้ทราบว่าค่าใช้จ่ายในการกำกับควบคุมอุตสาหกรรมผ่านการบังคับกฎหมายทั้งสองฉบับนี้ไม่ต้องออกมาจากกระเป๋าของอุตสาหกรรม แต่ออกมาจากภาษีอากรของประชาชนนั่นเอง

ตกลงแล้วเมื่อมีการกำกับควบคุมแล้ว อุตสาหกรรมเนื้อสัตว์มีสภาพการทำงานที่เหมือน jungle = ป่าดงดิบ น้อยลงหรือไม่

ถ้า Upton Sinclair ยังมีชีวิตอยู่ถึงทุกวันนี้ คงจะตะลึงที่ปัญหาของอุตสาหกรรมเนื้อสัตว์มีมากกว่าเดิม และเป็นภัยไม่ต่อเฉพาะสุขภาพของผู้บริโภคเท่านั้น แต่ยังเป็นภัยต่อความอยู่รอดของโลกทั้งใบ

จุดเริ่มต้นเห็นจะเป็นตอนที่ Ray Kroc บุกเบิกอุตสาหกรรม fast food = อาหารไว (ครับ “แดกด่วน” ได้อรรถรสกว่า มี alliteration เหมือนกัน) โดยนำหลักวิธี mass production = การผลิตปริมาณมาก จากอุตสาหกรรมมาใช้ในการผลิตอาหาร ตัวเขาเองก็คงนึกไม่ถึงว่าจะเปลี่ยนโฉมอเมริกาให้เลวลงขนาดนี้

Ray Kroc เป็นที่ยอมรับในแวดวงธุรกิจว่าเป็นผู้บุกเบิกอุตสาหกรรม fast food และทำให้ McDonalds (แหม็คด๊อนหนั่ลดส) กลายเป็นที่รู้จักทั่วโลก

ก่อนหน้า Ray Kroc ร้านอาหารส่วนใหญ่ถือว่าจะกินอาหารให้อร่อยต้องใจเย็นๆ ทุกอย่างต้องปรุง from scratch = จากไม่มีอะไรเลย (scratch แปลว่า เกา ก็ได้ครับ แต่ในที่นี้เป็นภาษาพูดแปลว่า ไม่มีอะไรเลย) เช่นจะทำแฮมเบอร์เกอร์ก็ต้องเอาเนื้อมาบดมาหมักแล้วย่างให้ได้ที่ ปรุงซอสสดๆ ในแต่ละวัน เอาผักสดมาหั่นวางในแฮมเบอร์เกอร์ ฯลฯ

ผลคือ ถ้าอยากกินอาหารอร่อยต้องไปที่ร้านนั้นโดยเฉพาะ เพราะถึงแม้ว่าร้านนั้นอาจเปิดสาขาที่อื่น แต่ก็ไม่มีหลักประกันว่าฝีมือพ่อครัว/แม่ครัวจะเหมือนกัน ถึงจะเป็นลูกหลานเจ้าตำรับก็ตาม ถ้าอยากมั่นใจว่าจะได้กินรสดั้งเดิมก็ต้องไปเจ้าดั้งเดิม

Ray Kroc นำแนวคิดเชิงวิทยาศาสตร์แบบเดียวกันที่ใช้ในการผลิตรถยนต์มาแก้ปัญหาการรักษามาตรฐานของรสชาติอาหาร โดยทำให้แฮมเบอร์เกอร์ (และอาหารรายการอื่นๆ) ของ McDonalds ทุกอันรสชาติเหมือนกันหมด ไม่ว่าคุณจะซื้อกินที่ไหนในโลก กรุยทางให้ fast food chains = เครือข่ายร้านอาหารด่วน อื่นๆ ดำเนินตาม

เคล็ดลับของการรักษามาตรฐานรสชาติของอาหารก็คือ centralization = การรวบอำนาจไว้ที่ส่วนกลาง นั่นคือบริษัทแม่เท่านั้นจึงจะรู้ว่าสูตรลับที่ทำให้อาหารนั้นอร่อยคืออะไร แต่ละสาขาไม่ต้องมีพ่อครัว/แม่ครัวที่ทำอาหารเก่ง เงินเดือนแพง เพียงแค่มีเด็กนักเรียนวัยรุ่นที่พร้อมจะทำงาน flipping burgers = พลิกแผ่นเนื้อแฮมเบอร์เกอร์ แลกเงินเดือนขั้นต่ำ (โดยเฉพาะอย่างยิ่งช่วงปิดเทอม) ก็พอแล้ว

ไม่ต้องห่วงว่ารสชาติจะ off = ผิดเพี้ยน เพราะส่วนประกอบทั้งหมดส่งมาจากบริษัทแม่ ไม่ต้องใช้ศิลปะอะไรในการปรุง แค่ทำตามคำสั่งง่ายๆ ในคู่มือก็ได้แฮมเบอร์เกอร์รสชาติมาตรฐานแล้ว

แน่นอนครับ ไม่ใช่ McDonalds เจ้าเดียวที่เตรียมและขายอาหารด้วยกรรมวิธีแบบนี้ คนอเมริกันชอบ fast food ตรงที่สะดวก เร็ว ถูก และรสชาติมาตรฐาน ไม่ต้องเสี่ยงกับการลองของใหม่

ที่ใดมีอุปสงค์ที่นั่นย่อมมีอุปทาน ร้าน fast food จึงแพร่กระจายอย่างรวดเร็ว สารพัดประเภท สารพัดยี่ห้อ ผุดขึ้นมาแข่งกับ McDonalds ไม่ว่าจะเป็นร้านแฮมเบอร์เกอร์ด้วยกันเช่น Burger King, Wendy’s, Carl’s Jr., In-N-Out, Jack-in-the-Box ฯลฯ หรือร้านไก่ทอดเช่น KFC, Popeyes, Church’s

การแข่งขันอย่างเข้มข้นนี้ได้ทำให้เกิดปรากฏการณ์หลายอย่างที่ไม่น่าเชื่อว่าเกิดขึ้นได้ในประเทศอย่างอเมริกา ซึ่งถูกเปิดโปงโดยทั้งหนังสือเช่น Fast Food Nation, Fat Land และภาพยนตร์เช่น Supersize Me, King Corn ที่รวมกันแล้วเป็น backlash (แบ๊คแหลช) = กระแสต้าน อุตสาหกรรมเนื้อสัตว์ คล้ายๆ กับตอนที่ Upton Sinclair เปิดโปงอุตสาหกรรมเนื้อวัวในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อศตวรรษที่ 20

นักเขียนผู้มีบทบาทคล้าย Upton Sinclair ในการเปิดโปงความเลวร้ายของอุตสาหกรรมเนื้อสัตว์แห่งต้นศตวรรษที่ 21 คงจะไม่พ้น Eric Schlosser

Schlosser เป็นนักหนังสือพิมพ์ผู้เชี่ยวชาญในแขนงวิชาชีพที่เรียกว่า investigative journalism = การหนังสือพิมพ์สอบสวน นั่นคือการขุดคุ้ยเปิดโปงความไม่ชอบมาพากลทั้งหลายในสังคมแล้วนำมาเขียนเป็นบทความลงหนังสือพิมพ์หรือนิตยสาร

investigative journalist = นักหนังสือพิมพ์สอบสวน บางครั้งก็ถูกเรียกว่า muckraker (มัคเหร่เข่อร์) เพราะต้องไปขุดคุ้ยเรื่องราวสกปรก ราวกับไป rake = ใช้คราดลาก muck = สิ่งโสโครก (ด้วยเหตุนี้ muckraker จึงมักใช้เป็นคำเรียกที่ดูถูกหรือหมั่นไส้)

สมัยก่อนสังคมอเมริกันก็ไม่ค่อยได้ให้ความสำคัญกับ investigative journalists เท่าไหร่ เพราะถือว่าพวกที่ชอบขุดคุ้ยเรื่องสกปรกตัวเองก็คงสกปรกด้วย เช่นอาจขุดคุ้ยข่าวเพียงเพื่อขอเงินค่าปิดปาก

แต่วิชาชีพ investigative journalism ได้กลายเป็นที่ยอมรับและยกย่องอย่างสูงจากการที่นักข่าวสองนายจากหนังสือพิมพ์ Washington Post ชื่อ Bob Woodward กับ Carl Bernstein เปิดโปงการกระทำผิดกฎหมายของประธานาธิบดีนิกสันในกรณี Watergate จนนิกสันจำเป็นต้องลาออกเพื่อหลีกเลี่ยง impeachment = การฟ้องเจ้าหน้าที่ของรัฐที่มาจากการเลือกตั้งว่ากระทำผิดกฎหมาย เพราะไม่งั้นแล้วอาจนำไปสู่การปลดจากตำแหน่งได้

แน่นอนครับ อาชีพ investigative journalism ไม่ใช่เป็นอาชีพที่ทำเป็นล่ำเป็นสันได้ เพราะอาจเป็นผลไม่ดีต่อสุขภาพของผู้ที่เป็น investigative journalist ได้ แต่ก็เป็นอาชีพที่จำเป็นต้องมีในระบบประชาธิปไตย เพราะบ่อยครั้งนักหนังสือพิมพ์ทั่วไปจะไม่เจาะลึกพอที่จะเข้าถึงความจริง แต่พร้อมที่จะยอมรับคำอธิบาย (หรือคำแก้ตัว) ของรัฐบาลหรือของบริษัทยักษ์ใหญ่ที่อาจพยายามซุกซ่อนความเลวร้ายอะไรบางอย่างไว้

ในกรณีของ Eric Schlosser ถึงแม้ว่าเขาไม่ได้บีบให้ประธานาธิบดีของประเทศต้องออกจากตำแหน่ง แต่ก็ได้ทำสิ่งที่ผมคิดว่าสำคัญไม่ยิ่งหย่อนกว่ากัน นั่นคือการทำให้คนอเมริกันหันมาดูสิ่งที่ตัวเองทำทุกวี่ทุกวันว่ามันเป็นสิ่งที่ถูกต้องหรือเปล่า ดีหรือเปล่า ควรเปลี่ยนแปลงแก้ไขหรือเปล่า

สิ่งนั้นคือการกิน fast food ซึ่งแทบจะเป็นอาหารประจำชาติของคนอเมริกันก็ว่าได้ เพราะนิยมกินกันเหลือเกิน โดยหารู้ไม่ว่ารสชาติเอร็ดอร่อยนั้นมาจากสารเคมีซึ่งออกแบบให้เป็นกลิ่นและรสที่ต้องการ เนื้อวัวบดแต่ละแผ่นที่ใส่แฮมเบอร์เกอร์มาจากวัวเป็นร้อยเป็นพันตัวที่ถูกเลี้ยงในสภาพที่โหดร้ายสกปรก และการบริโภค fast food อย่างสม่ำเสมอจะทำให้เป็นโรคเช่นเบาหวานและโรคอ้วน

หนังสือ Fast Food Nation ได้ถูกนำไปสร้างเป็นหนังชื่อเดียวกัน และหนังสารคดีชื่อ Food, Inc. อีกทั้งยังจุดประกายหนังสือและสารคดีอีกมากมายที่เปิดโปงความโลภของอุตสาหกรรมอาหารอเมริกัน

กระแสที่เกิดจากหนังสือเช่น Fast Food Nation ของ Eric Schlosser ทำให้คนอเมริกันเริ่มหวาดระแวง fast food และเนื้อวัวมากขึ้น

อุตสาหกรรม fast food ถูกชี้ว่าเป็นต้นเหตุที่ทำให้พื้นที่ป่าจำนวนมหาศาลสูญหายไปในแต่ละปี เพราะถูกโค่นถางเพื่อทำเป็นทุ่งหญ้าเลี้ยงวัว การผลิตเนื้อวัวแต่ละปอนด์ก็ต้องใช้น้ำประมาณ 12,000 แกลลอน ในขณะที่ข้าวใช้น้ำเพียง 230 แกลลอนต่อปอนด์

นอกจากจะสิ้นเปลืองทรัพยากรธรรมชาติในการผลิตเนื้อวัวแล้ว ผลผลิตจากวัวแต่ละตัวก็เป็นอันตรายต่อสิ่งแวดล้อมด้วย เพราะวัวแต่ละตัวเรอออกมาเป็นแก๊ส methane ซึ่งมีผลร้ายต่อบรรยากาศโลกมากยิ่งกว่าคาร์บอนไดอ็อกไซด์ประมาณ 25 เท่า ส่วนมูลวัวจาก stockyards ซึ่งขังวัวในคอก ยืนจมมูลตัวเองและเพื่อนฝูง ส่วนหนึ่งก็สลายซึมลงไปในน้ำบาดาล อีกส่วนก็ไหลลงแม่น้ำลำธาร ทำให้บริเวณปากน้ำและชายฝั่งกลายเป็นพื้นที่ขาดอ๊อกซิเจน เพราะมีมูลวัวเข้มข้นเกินขนาด

สิ่งเหล่านี้อาจไม่ค่อยเป็นที่สนใจเท่าไหร่ของคนอเมริกันที่อยู่ในพื้นที่ชนบทและเมืองเล็กๆ ที่เรียกกันว่า the American heartland และคนที่มีการศึกษาน้อย เพราะถือว่าเนื้อสัตว์เป็นอาหารหลักที่มีความเป็นอเมริกันสูงกว่าสลัดที่ทำจากผักชื่อแปลกๆ เช่น arugula เราจึงเห็นคนอเมริกันจำนวนมากอ้วนและอุดมไปด้วยโรคาพยาธิ

สมัยผมเด็กๆ คนที่อ้วนหน่อยก็จะโดนเพื่อนใจร้ายล้อว่าเป็น fatso (แฟ็ทโส่ว) = ไอ้อ้วน แต่สมัยนี้เด็กๆ ไม่ค่อยล้อกันอย่างนี้แล้ว เพราะในเมื่อความอ้วนไม่ใช่สิ่งที่แปลกประหลาดอีกต่อไป ถึงจะล้อไปก็เท่านั้น

และเรื่องการช่วยคนอ้วนออกจากบ้านอย่างที่เป็นข่าวในเมืองไทยเมื่อไม่นานมานี้ ที่อเมริกาเขาทำกันมานานเป็นสิบๆ ปีแล้วครับ บางรายต้องทุบกำแพงบ้านถึงจะออกมาได้ (เพราะไม่เคยออกไปข้างนอกเลยด้วยความกลัวว่าจะโดนล้อหรือดูถูก) บางรายต้องใช้ปั้นจั่นมายกใส่รถบรรทุกเพื่อพาไปโรงพยาบาล

ในหมู่ชาวกรุงอเมริกัน เรื่องสุขภาพมักจะมาก่อนการตามใจลิ้น คนที่อยู่ในเมืองใหญ่ๆ เริ่มขยาดกับ fast food และแหวะกับเนื้อที่มาจาก factory farming = การเลี้ยงสัตว์ในโรงงาน ไม่ว่าจะเป็นวัว หมู หรือไก่

Backlash = กระแสต้าน การบริโภค fast food และเนื้อสัตว์จากโรงงานแบ่งได้เป็นสองแขนง นั่นคือพวกที่ยังอยากกินเนื้อสัตว์ต่อไป แต่ไม่ใช่เนื้อสัตว์ที่ถูกทรมานขังคอกแคบๆ พลิกตัวไม่ได้ พวกนี้พร้อมจะจ่ายเงินเพิ่มเพื่ออาหาร organic = ชีวภาพ เช่นสัตว์ที่ใช้ชีวิตอย่างมีความสุขตามทุ่งนา ไม่ถูกป้อนยาปฏิชีวนะผสมอาหาร

แล้วก็มีอีกแขนงหนึ่งที่ปฏิเสธเนื้อสัตว์โดยสิ้นเชิง นั่นคือพวก vegan (วี้กั่น โดยตัว v ออกเสียงกึ่ง ว.แหวน กึ่ง ฟ.ฟัน) ซึ่งไม่กินแม้แต่ผลิตผลที่มาจากสัตว์ เช่นไข่และนม

อเมริกาส่วนใหญ่ยังนิยมกินเนื้ออยู่ แต่ถ้าเราดูการที่ร้านอาหารดังๆ รณรงค์ให้มี meatless Mondays = วันจันทร์ไม่กินเนื้อ ก็จะเห็นว่าอุตสาหกรรม fast food อาจจะต้องตั้งหลักเพื่อปรับตัวเองครั้งใหญ่

สมัครเป็นสมาชิก ดาวน์โหลดฟรีอีบุ๊ค "ฟอไฟฟุดฟิดอังกฤษอเมริกัน เล่ม 1"

* indicates required
boonhod@hotmail.com
Copyright (C) 2019 by Jakkrit Srivali. All rights reserved. สงวนลิขสิทธิ์ โดย จักรกฤษณ์ ศรีวลี
>
linkedin facebook pinterest youtube rss twitter instagram facebook-blank rss-blank linkedin-blank pinterest youtube twitter instagram