การที่ประเทศปกครองโดยรัฐบาลทหารมักจะเป็นจุดอ่อนให้ต่างประเทศโจมตีได้อยู่เนืองๆ ดังเห็นได้จากคอลัมน์เก่าข้างล่างนี้
1-3 พฤษภาคม 2550
เมื่อเดือนที่ผ่านมา หนังสือพิมพ์ Wall Street Journal ลงโฆษณาพาดหัวหราว่า Slouching Towards Burma ดูเผินๆ เหมือนว่าจะเกี่ยวกับพม่า แต่ที่ไหนได้ มีพาดหัวย่อยตามมาว่า Thailand’s Radical New Regime
ตอนแรกยังนึกว่าคลื่นใต้น้ำโกอินเตอร์ไปแล้วหรือนี่ แต่พอดูอีกทีก็เห็นว่าโฆษณานี้สปอนเซอร์โดยองค์กรชื่อ USA for Innovation
ไปดูเว็บไซท์ขององค์กรนี้ก็ทราบว่าเป็น lobby group = กลุ่มพิทักษ์ผลประโยชน์ ซึ่งมีอยู่ดาษดื่นในอเมริกา และเป็นเหตุผลหนึ่งที่คนอเมริกันไม่ค่อยออกมาเดินขบวนเรียกร้องโน่นนี่ เพราะสามารถทำผ่านกลุ่มเหล่านี้ได้
ผลประโยชน์ที่ USA for Innovation คอยจ้องพิทักษ์คือผลประโยชน์ของบริษัทอเมริกันที่เป็นเจ้าของสิทธิทรัพย์สินทางปัญญา
กลุ่มล็อบบี้จะมีอิทธิพลมากน้อยแค่ไหนขึ้นอยู่กับว่าใครเป็นผู้บริหาร ดังนั้นเจ้าหน้าที่ระดับสูงในรัฐบาลอเมริกันพอพ้นจากตำแหน่งหน้าที่ก็มักจะกลายไปเป็น influence peddler = ผู้เร่ขายอิทธิพล (เป็นสำนวนที่เรียกนักล็อบบี้ด้วยความไม่ค่อยเสน่หานัก)
ผู้เป็นตัวตั้งตัวตีในการอัดรัฐบาลไทยครั้งนี้ก็คือ Kenneth Adelman อดีตเจ้าหน้าที่ระดับสูงในรัฐบาลบุช neocon (neoconservative = นวอนุรักษ์นิยม) ตัวยง และเจ้าของคำพูดอมตะว่าการบุกอิรักจะเป็น cakewalk (ฝรั่งมักเปรียบเทียบอะไรที่ง่ายกับเค้ก เช่น piece of cake หรือ cakewalk ซึ่งเดิมทีเป็นจังหวะเต้นรำของทาสผิวดำซึ่งมีการแข่งขันและให้รางวัลเป็นขนมเค้ก)
Adelman ได้กลายเป็นหนูสละเรือที่กำลังจม อัดรัฐบาลบุชเรื่องสงครามอิรัก (โปรดดูคอลัมน์วันที่ 9 พ.ย. 2549) แต่ทำไมต้องมาอัดรัฐบาลไทยด้วย
ทำไมอีตา เอ๊ย ท่านทูต Ken Adelman ถึงมาอัดรัฐบาลทหารที่รักของเราหนักขนาดนี้ เขาเป็นเดือดเป็นร้อนแทนประชาธิปไตยในเมืองไทยจริง หรือว่าเป็นมือปืนรับจ้างของอำนาจเก่า
และที่สำคัญ (สำหรับแฟนๆ คอลัมน์นี้) ทำไมเขาถึงพาดหัวโฆษณาใน Wall Street Journal ว่า Slouching Towards Burma ด้วย
ดังนั้นก่อนที่เราจะดูเรื่อง USA for Innovation อัดรัฐบาลไทย มาดูศัพท์ slouch กันก่อนแล้วกันนะครับ
Slouch (สเล่าช) ถ้าเป็นกริยาหมายถึงยืน นั่งหรือเดินด้วยอาการหลังค่อมโกง ไหล่ห่อ ซึ่งอาจสบายแต่ก็อาจทำให้โดนพ่อแม่ดุได้ว่าเดี๋ยวก็หลังโกงหรอก
ถ้าเป็นนาม slouch ก็เป็นแสลงแปลว่า คนเฟอะฟะ เก้งก้าง ขี้เกียจ ส่วนมากจะใช้ในสำนวนโครงสร้างปฏิเสธ to be no slouch at (something) แปลว่า ไม่ใช่ย่อยใน (ด้านใดด้านหนึ่ง) เช่น He’s no slouch at cards. = เขาเล่นไพ่เก่งไม่เบา
Slouching Towards Burma เป็นการยืมภาษาจากบทกวี The Second Coming ของ W.B. Yeats ซึ่งสิ้นสุดด้วยประโยคว่า And what rough beast, its hour come round at last, / Slouches towards Bethlehem to be born? (โปรดดูคำอธิบายในบล็อกของผมได้ครับ)
slouching towards Burma จึงอาจตีความได้ว่าหมายความว่า “ค่อยๆ เดินแบบค่อมๆ ไปทางพม่า” ซึ่งพอดูควบคู่กับพาดหัวย่อยที่ว่า Thailand’s Radical New Regime ก็เห็นชัดว่าองค์กร USA for Innovation นี้มองว่ารัฐบาลทหารที่น่ารักของเรามีท่าทีสุดขั้วตกขอบใกล้รัฐบาลทหารพม่าเข้าไปทุกที
คำว่า radical มีหลายความหมายครับ รากศัพท์ของมันหมายถึง รากโคน ดังนั้นเวลาใช้ในบริบทการเมืองมักจะหมายถึง รุนแรงแบบถึงรากถึงโคน
ถ้าเป็นวิเศษณ์ก็เช่น radical belief = ความเชื่อรุนแรงแบบถึงรากถึงโคน radical change = การเปลี่ยนแปลงอย่างถึงรากถึงโคน
หรือถ้าเป็นนามก็เช่น A few radicals can shout loudly enough to drown out the moderate majority. = พวกหัวรุนแรงไม่กี่คนสามารถตะโกนเสียงดังพอที่จะกลบเสียงของพวกสายกลางส่วนใหญ่ได้
องค์กร USA for Innovation กล่าวหากลางหน้าหนังสือพิมพ์ Wall Street Journal ว่ารัฐบาลทหารของไทยเป็นรัฐบาลที่ radical เพราะกำลังชักนำประเทศไปในทิศทางเผด็จการแบบพม่า เอาเงินประชาชนเข้ากระเป๋าทหาร เล่นงานธุรกิจต่างชาติ และที่สำคัญคือขโมยทรัพย์สินอเมริกัน
ทรัพย์สินที่ว่านั้นคือสิทธิทรัพย์สินทางปัญญา เขาอ้างว่าสิทธิบัตรยารักษาเอดส์ที่บริษัทอเมริกันทุ่มทุนมหาศาลคิดค้นขึ้นมากลับโดนกระทรวงสาธารณสุขไทยทำ compulsory (คัมพั้ลสรี ไล้สึ่นสิ่ง) licensing หน้าตาเฉย สร้างกำไรให้กับองค์การเภสัชกรรมโดยอ้างประชาชน ไม่ปรึกษาหารือใคร ไม่สนกฎองค์การการค้าโลก (WTO) ทั้งๆ ที่ไทยเองก็ไม่ได้เข้าตาจนถึงขนาดนั้น
Compulsory licensing หมายถึงการที่รัฐบาลทำยาขึ้นมาโดยไม่จ่ายค่าสิทธิบัตรให้กับเจ้าของสิทธิบัตร เป็นเรื่องที่ถกเถียงกันหน้าดำหน้าแดงใน WTO ซึ่งในที่สุดก็ตกลงได้ว่ากรณีไหนทำได้บ้าง แต่ Adelman อ้างว่ากรณีของไทยไม่เข้าข่ายและขอให้รัฐบาลสหรัฐฯ โปรดดำเนินมาตรการลงโทษไทยด้วย
ก็คงต้องคอยลุ้นต่อไปครับว่ารัฐบาลไทยจะเดินหมากแก้เกมนี้ยังไง
Session expired
Please log in again. The login page will open in a new tab. After logging in you can close it and return to this page.