ทำไมถึงบุญหด?

สมัยเป็นนักเขียน Asian Post ที่แอลเอ

"บุญหด" เป็นชื่อของพระเอกนิยายเรื่องหนึ่งซึ่งผมเขียนลงหนังสือพิมพ์ Asian Post สมัยที่อยู่อเมริกา (มีผู้อ่านอยากให้เปิดคอลัมน์สอนภาษาอังกฤษ แต่ผมขี้เกียจเขียนเป็นตำรา ก็เลยผูกเรื่องราวขึ้นมาเป็นนิยายสอนภาษาอังกฤษ) ท่านบรรเจิด ทวี หัวหน้ากองบก.เดลินิวส์ เกิดติดใจชื่อนี้เข้า พอผมมาเขียนที่เดลินิวส์ก็เลยกรุณาเอามาเป็นส่วนหนึ่งของนามปากกามหามงคลให้

ชีวิตที่แอลเอ

ระหว่างผมเรียนหนังสือที่อเมริกาก็ทำงานไปด้วย เป็นผู้ช่วยทนายความ นักดนตรี นักหนังสือพิมพ์ นักแปลเอกสาร และล่ามให้ US Department of State หรือ กระทรวงการต่างประเทศของสหรัฐฯ อีกทั้งล่ามประจำ Los Angeles Superior Court หรือศาลสูงของลอสแอนเจลีส

ผู้ที่ให้โอกาสผมเกิดในเดลินิวส์คือ "พี่เล็กพี่น้อย" คุณสุรพล สุขถาวร และคุณสันทนีย์ วายุโชติ นักข่าวเดลินิวส์ประจำลอสแอนเจลีสในขณะนั้น เนื่องจากตอนนั้นคุณแสงชัย สุนทรวัฒน์ ได้ย้ายจากค่ายเดลินิวส์ไปอยู่ไทยรัฐ จึงมีคอลัมน์ว่างอยู่พอดี ตอนผมได้รับทาบทามยังนึกว่าจะเขียนสัก 2-3 ปีจนกว่าเขาจะบอกให้เลิกเขียน

ระหว่างที่อยู่แอลเอก็ได้ผลิตผลงานเล็กๆ ที่ไม่นึกว่าจะเป็นที่รู้จักอะไรมากมาย แต่พอกลับเมืองไทยถึงรู้ว่าโอ้โห ขนาดนี้เชียวหรือ นั่นคือได้แต่งเนื้อเพลง "ฝน" ของเบิร์ดกะฮาร์ท รู้ว่ามันดังขนาดไหนก็ตอนที่ไปคอนเสิร์ตเบิร์ดกะฮาร์ทที่อิมแพค เมืองทองธานี แล้วปรากฏว่าคนดูทั้งโรงร้องคลอไปด้วย ผมเงียะขนลุกซู่เลย

ชีวิตในกระทรวงบัวแก้ว

ข้าราชการแรกเข้าเมื่อปี 2535

ผมกลับเมืองไทยเมื่อปี 2534 เพื่อสอบเข้ากระทรวงการต่างประเทศของไทย บังเอิญสอบได้ที่ 1 ก็เลยตัดสินใจทิ้งวิทยานิพนธ์ปริญญาเอก (ซึ่งตอนนั้นกำลังเบื่อมาก) กลับมาตั้งรกรากที่เมืองไทย บรรจุเป็นเจ้าหน้าที่การทูตเมื่อต้นปี 2535 รายได้ลดฮวบลงประมาณ 20 เท่า แต่ก็ดีใจที่รู้สึกว่า ได้ทำอะไรที่เป็นประโยชน์ต่อบ้านเกิดเมืองนอนของตัวเองบ้าง (ถ้าเป็นวาทกรรมสมัยนี้อาจเรียกว่าตอบแทนบุญคุณแผ่นดิน แต่ผมว่ามันฟังยิ่งใหญ่เกินไปยังไงชอบกล)

หน้าที่หลักของผมสมัยที่เป็นเจ้าหน้าที่คือเขียนสุนทรพจน์ภาษาอังกฤษ ให้ผู้ใหญ่ (และเอกสารภาษาอังกฤษแทบทุกอย่าง) ที่ผมรู้สึกภูมิใจเป็นพิเศษคือ ได้รับความไว้วางใจให้เขียนสุนทรพจน์สำหรับนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ของประเทศไทยทุกท่านนับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2535 จนกระทั่งผมขึ้นสู่ตำแหน่งนักบริหาร

ได้สัมผัสกับประธานาธิบดีบิล คลินตันในการประชุมผู้นำเอเปคที่ Blake Island ยุคท่านนายกชวน หลีกภัย

เมื่อกรกฎาคม 2542 ผมได้ไปประจำการที่สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงกัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซีย ในตำแหน่งเลขานุการเอก

เมื่อปลายปี 2545 กระทรวงฯ ได้เรียกผมกลับไปช่วยเตรียมงาน APEC 2003 เลื่อนตำแหน่งเป็นหัวหน้าฝ่ายด้านสารัตถะทั้งหมดของการประชุม แถมยังได้รับมอบหมายภารกิจแปลกๆ เช่นแต่งเนื้อเพลงภาษาอังกฤษสำหรับเพลงประจำเอเปคในปีนั้นด้วย

พอเอเปคผ่านพ้นไปด้วยดี ผมก็ย้ายกอง ไปเตรียมจัดประชุมผู้นำอีกสองกรอบ คือ BIMSTEC และ ACMECS ได้เลื่อนตำแหน่งเป็นผู้อำนวยการกองในปี 2547 แต่ก็ยังต้องยกร่างและตรวจแก้สุนทรพจน์ภาษาอังกฤษ ไม่ต่างจากตอนที่เข้ากระทรวงใหม่ๆ เท่าไหร่ เพียงแต่ตอนนี้ยังต้องมีหน้าที่ของผอ.บวกเข้าไปด้วย

เมื่อต้นปี 2549 ผมได้รับมอบหมายให้ไปช่วยราชการที่สำนักรัฐมนตรีสมัยท่านรัฐมนตรีกันตธีร์ ศุภมงคลอีกทางหนึ่ง จนกระทั่งท่านพ้นตำแหน่งในเดือนกันยายน เมื่อเกิดการรัฐประหาร

ระหว่างนั้นก็รับงานนอกบ้าง เช่นเขียนสุนทรพจน์ภาษาอังกฤษให้ผู้ใหญ่อย่างท่านอดีตนายกอานันท์ ปันยารชุน หรือรับเชิญไปบรรยายตามมหาวิทยาลัยต่างๆ เกี่ยวกับการแปล การเป็นล่าม และการเขียนสุนทรพจน์ภาษาอังกฤษ

และยังได้ไปเป็นส่วนหนึ่งของทีม "หน้าห้อง" ของท่านเตช บุนนาคในช่วงสั้นๆ ที่ท่านดำรงตำแหน่งเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ

เป็นความภาคภูมิใจที่ท่านนายกฯ อานันท์ ปันยารชุน เรียกใช้ให้เขียนสุนทรพจน์ภาษาอังกฤษให้ท่านหลายครั้ง

หลังจากท่านเตชพ้นจากตำแหน่ง ผมก็กลับมาที่กรมสารนิเทศ จนกระทั่งกระทรวงฯ มีคำสั่งให้ไปประจำการต่างประเทศอีกครั้ง ในตำแหน่งอัครราชทูตและรองหัวหน้าคณะผู้แทนถาวรไทยประจำสหประชาชาติ ณ นครนิวยอร์ก ตั้งแต่เดือนกันยายน 2552

ได้กล่าวสุนทรพจน์ในการประชุมสมัชชาใหญ่สหประชาชาติเมื่อปี 2552

ผมกลับประเทศไทยอีกครั้งเมื่อต้นปี 2556 มารับตำแหน่งรองอธิบดีกรมสารนิเทศและรองโฆษกกระทรวงการต่างประเทศ และต่อมาได้เลื่อนดำแหน่งเป็นเอกอัครราชทูตประจำกระทรวงฯ และอธิบดีกรมอาเซียนในช่วงที่กำลังเข้าสู่ความเป็นประชาคม (คุณผู้อ่านอาจเห็นผมออกรายการทีวีช่วงนั้นบ่อยหน่อย)

แถลงข่าวสมัยเป็นอธิบดีกรมอาเซียน

ผมอยู่ที่กรมอาเซียนราวปีครึ่งก็ได้ออกประจำการสมใจ (นักการทูตส่วนใหญ่ต้องการออกประจำการต่างประเทศมากกว่าอยู่ที่เมืองหลวงของตัวเอง) ไปเป็นเอกอัครราชทูต ณ กรุงบูดาเปสต์ ดูแลประเทศในเขตอาณาอีกสามประเทศ ได้แก่ บอสเนีย-เฮอร์เซโกวีนา โครเอเชีย และมอนเตเนโกร ซึ่งล้วนแต่เป็นประเทศน่าเที่ยวแต่มีประวัติศาสตร์น่าเศร้า

ผมครบกำหนดเกษียณอายุราชการในปี 2562 และโดยที่ปีงบประมาณของไทยสิ้นสุดลงในวันที่ 30 กันยายน ของแต่ละปี นั่นก็คือจุดสิ้นสุดอายุราชการของผมด้วย

เป็นการเปิดโอกาสให้ผมได้ทำอะไรใหม่ๆ เพื่อเป็นประโยชน์ต่อส่วนรวม ซึ่งก็หวังว่าพอที่จะเลี้ยงตัวเองด้วย เพราะเงินบำนาญสำหรับคนที่อายุราชการน้อยอย่างผมดูไม่น่าจะพอเลี้ยงครอบครัวเลย ผ่าสิ

สมัครเป็นสมาชิก ดาวน์โหลดฟรีอีบุ๊ค "ฟอไฟฟุดฟิดอังกฤษอเมริกัน เล่ม 1"

* indicates required
boonhod@hotmail.com
Copyright (C) 2019 by Jakkrit Srivali. All rights reserved. สงวนลิขสิทธิ์ โดย จักรกฤษณ์ ศรีวลี
>
linkedin facebook pinterest youtube rss twitter instagram facebook-blank rss-blank linkedin-blank pinterest youtube twitter instagram