ดักฟัง

23-24 มกราคม 2550

“นี่มารศรี ฉันกลัวว่าต่างชาติจะดักฟังโทรศัพท์ฉันน่ะ ทำไงดี”

“กลัวไปทำไม ต่างชาติดักฟัง กลัวแฟนดักฟังเธอคุยกับกิ๊กน่าจะตรงกับความเป็นจริงกว่ากระมัง”

“ก็เผื่อสักวันมีแฟนเป็นชาวต่างชาติไง”

“บ้าสิ สมัยนี้เรื่อง eavesdropping ใครๆ เขาก็ทำกันทั้งนั้นแหละ เธอไม่เคยทำเหรอ เวลาแฟนเธอคุยโทรศัพท์เสียงกระซิบกระซาบน่ะ เธอก็พยายามเงี่ยหูฟังใช่ไหมล่ะ นั่นคือ eavesdropping = แอบฟัง”

“ฉันไม่ได้หมายถึงอย่างนั้นซะหน่อย ฉันหมายถึงแบบคุยมือถือแล้วมีคนคว้าสัญญาณในอากาศไปแอบฟังตะหาก”

“แบบนั้นเขาเรียกว่า electronic eavesdropping = การแอบฟังโดยใช้วิธีอีเล็กทรอนิค วิธีง่ายที่สุดคือการเอา bug = เครื่องดักฟัง ไปใส่ไว้ในโทรศัพท์ ถ้ายากหน่อยก็คือ wiretapping = การเจาะสายโทรศัพท์แอบฟัง ที่อเมริกามีเจ้าหน้าที่รัฐเท่านั้นที่ทำได้โดยต้องได้รับอนุญาตจากศาลเป็นกรณีๆ ไป ส่วนการดักฟังมือถือนั้นไม่น่าจะเรียกว่า wiretapping เพราะไม่มีสายโทรศัพท์ น่าจะเข้าข่าย electronic eavesdropping มากกว่า แต่ถ้าเธอกลัวโดนดักฟังจริงๆ ก็ต้อง scramble สัญญาณโทรศัพท์ หมายความว่าทำให้มันเละจนฟังไม่รู้เรื่อง”

“อ๋อ scramble แบบไข่คนนั่นน่ะเหรอ”

“เธอนี่คิดอยู่เรื่องเดียวจริงๆ ไข่คนที่ไหนกัน scramble หมายถึงตีให้เละปะปนจนแยกไม่ออก แบบ scrambled eggs ไงที่เป็นไข่ที่คนจนเละ... อ๋อ เข้าใจแล้ว แต่ในกรณีของสัญญาณโทรศัพท์ถ้าเธอมีเครื่อง descrambler ก็จะสามารถทำให้สัญญาณที่เละนั้นกลับมาเป็นสัญญาณปกติดั้งเดิมได้ ไม่เหมือนไข่”

“แล้วถ้าใช้เครื่อง descrambler อะไรนั่นของเธอล่ะ มารศรี จะไม่มีใครฟังออกใช่ไหมว่าฉันคุยโทรศัพท์กับกิ๊ก เอ๊ย แฟนว่ายังไง”

“ไม่มีระบบไหนที่ปลอดภัยร้อยเปอร์เซ็นต์หรอก ที่อเมริกามีหน่วยงานของรัฐชื่อ National Security Agency หรือ NSA ซึ่งมีหน้าที่คอยติดตามการสื่อสารอีเล็กทรอนิคทั้งหมดในโลก และถ้าเป็นการสื่อสารที่ใส่รหัส เขาก็มีหน้าที่หา algorithm สำหรับเจาะรหัสด้วย ถ้าเขาอยากจะ listen in on เธอจริงๆ เขาก็คงทำได้โดยที่เธอไม่มีวันรู้ตัว”

“อะไรนะ ฉันนึกว่า แอบฟัง ภาษาอังกฤษเขาเรียกว่า eavesdrop ซะอีก แล้วนี่ listen in on มันคืออะไร ทำไมมีบุพบทตั้งสองตัวติดกันยังงั้น”

“เธอก็ อย่าลืมที่ฉันบอกสิ ว่าภาษาอังกฤษมักมีมากกว่าหนึ่งวิธีที่จะสื่อความหมายเดียวกัน listen in on ก็แปลว่า แอบฟัง นี่แหละ วิธีใช้ก็คือ listen in on แล้วก็ตามด้วยคนหรือการสนทนาที่เราแอบฟัง เช่น You can put your mind at ease. Nobody is going to want to listen in on your boring phone conversations. = เธอสบายใจได้ ไม่มีใครอยากจะแอบฟังการพูดคุยทางโทรศัพท์อันแสนน่าเบื่อของเธอหรอก

“แหม ยกตัวอย่างได้น่าฟาดจริงๆ นะ แม่นักเรียนนอก แต่เธอยังไม่ได้บอกฉันเลยว่าทำไมต้องมีทั้ง in ทั้ง on”

“ก็เพราะว่า listen in เฉยๆ แปลว่า แอบฟัง แต่ถ้าเธอต้องการบอกว่าแอบฟังใครหรืออะไร ก็ต้องมี on ต่ออีกคำ เหมือนกับเวลาเธอไม่ได้ลงหน่วยกิตแต่ว่าอยากไปนั่งฟังวิชาที่สนใจ เธอก็อาจบอกอาจารย์ว่า I would like to sit in on your class. = หนูอยากไปนั่งฟังวิชาของอาจารย์ค่ะ (โดยไม่ร่วมกิจกรรม) ถ้าไม่มี on ก็จะแปลแค่ว่า นั่งในชั้นเรียน”

สมัครเป็นสมาชิก ดาวน์โหลดฟรีอีบุ๊ค "ฟอไฟฟุดฟิดอังกฤษอเมริกัน เล่ม 1"

* indicates required
boonhod@hotmail.com
Copyright (C) 2019 by Jakkrit Srivali. All rights reserved. สงวนลิขสิทธิ์ โดย จักรกฤษณ์ ศรีวลี
>
linkedin facebook pinterest youtube rss twitter instagram facebook-blank rss-blank linkedin-blank pinterest youtube twitter instagram