นิยามห่ามๆ บวมๆ

9 มกราคม 2550

หนังสือพิมพ์ Washington Post ทุกวันอาทิตย์จะมีคอลัมน์หนึ่งเรียกว่า Style Invitational เชิญชวนผู้อ่านร่วมสนุกโดยการเล่นภาษา ใครตลกที่สุดก็จะได้รับรางวัล

รางวัลส่วนใหญ่เป็นของซึ่งไม่มีค่าไปมากกว่า bragging rights = สิทธิในการได้คุยอวด

และทุกปี Style Invitational จะจัดประกวด neologisms = คำที่บัญญัติขึ้นใหม่ โดยให้ใช้คำที่มีอยู่แล้วแต่บัญญัติความหมายใหม่ๆ ฮาๆ ให้มัน

คุณจะไม่เจอนิยามศัพท์แบบนี้ในดิกที่ไหน แต่ที่ผมหยิบมาคุยก็เพราะว่ามันแฝงเกร็ดที่น่าสนใจเกี่ยวกับภาษาอังกฤษ และทำให้เราทึ่งกับความสร้างสรรค์และอารมณ์ขันของของคนที่คิด

สำหรับปี 2549 ศัพท์ที่ชนะ Washington Post Style Invitational มีดังนี้ครับ

  1. coffee ปกติแปลว่า กาแฟ แต่คำนิยามใหม่คือ... ผู้ถูกไอรด

นั่นเพราะว่า cough (ค่อฟ) แปลว่า ไอ และ –ee มักใช้เป็น suffix บ่งว่าเป็น ผู้ที่ถูกกระทำอะไรบางอย่าง

เช่น trainee = ผู้ถูกฝึก = ผู้รับการฝึกอบรม employee = ผู้ถูกจ้าง = ลูกจ้าง (การ “ถูกกระทำ” ในภาษาอังกฤษไม่มีนัยเชิงลบเหมือนในภาษาไทย เพียงแต่หมายความว่าเป็นกรรมของกริยานั้น)

cough ส่วนใหญ่จะใช้เป็น intransitive verb นอกจากเมื่อมีสิ่งที่ถูกไอออกมา เช่นเลือดหรือเสมหะ (He coughed blood. = เขาไอเป็นเลือด) แต่เพื่อความขำขัน coffee จึงถูกแปลด้วยตรรกะเพี้ยนๆ เป็น “ผู้ถูกไอรด” ครับ

ศัพท์ตัวที่สองในบรรดา neologisms ที่ชนะการแข่งขัน Washington Post Style Invitational คือคำว่า flabbergasted

ปกติคำนี้แปลว่า ตกตะลึง เช่น I was flabbergasted that someone so slim could eat all that food. = ฉันตกตะลึงที่คนผอมขนาดนั้นสามารถกินอาหารมากขนาดนั้น

แต่ความหมายใหม่ที่ผู้อ่านคอลัมน์ WPSI มอบให้กับคำนี้คือ “ตกใจที่น้ำหนักตัวเพิ่มขึ้นมากขนาดนี้”

ที่แปลอย่างนี้ได้ก็โดยอาศัยว่า flab แปลว่า ไขมันส่วนเกินตามร่างกาย

และการเติม –(พยัญชนะซ้ำ)+er ท้ายคำมักจะบ่งบอกว่า มากกว่า หรือ มากขึ้น เช่น big = ใหญ่ bigger = ใหญ่กว่า หรือ ใหญ่ขึ้น fat = อ้วน fatter = อ้วนกว่า หรือ อ้วนขึ้น

ความจริงคำว่า flab เป็นนาม ดังนั้นตามหลักไม่เข้าข่ายนี้ แต่ flabby = หย่อนยาน (เช่นไขมันย้อยตามตัวหรือใต้ต้นแขน) สามารถเป็น flabbier = หย่อนยานขึ้น ได้

อีกคำที่ได้ความหมายใหม่ใน WPSI คือ abdicate

ปกติคำนี้แปลว่า สละ (ราชย์ อำนาจ สิทธิ ความรับผิดชอบ ฯลฯ) อย่างเป็นทางการ แต่ “ความหมายใหม่” คือ “สละทิ้งความหวังที่ว่าสักวันจะมีหน้าท้องแบนราบได้”

เป็นการเล่นคำที่อาศัยความคล้ายคลึงกับ abdomen = หน้าท้อง อวัยวะหนึ่งที่คนอเมริกันห่วงใยมากที่สุด แม้ว่าจะดูแลรักษามันไม่ค่อยสำเร็จก็ตาม (abs ก็มีความหมายเดียวกันครับ ย่อจาก abdominal muscles)

คำต่อไปคือ willy-nilly ปกติเป็น adverb แปลว่า อย่างไม่มีการวางแผน ไม่มีระเบียบ ไม่มีปี่มีขลุ่ย ไม่ว่าจะเต็มใจหรือไม่ เช่น Milli Vanilli rose to fame willy-nilly. = Milli Vanilli ดังขึ้นมาอย่างไม่มีการวางแผน

แต่ความหมายเพี้ยนของมันคือ impotent (อิ๊มผะถั่นท) ซึ่งไม่ใช่ตัวสะกดผิดหรือวิธีออกเสียงแบบคนผิวดำของคำว่า important นะครับ แต่แปลว่า ไร้สมรรถภาพ (โดยเฉพาะอย่างยิ่งทางเพศ)

ทำไม willy-nilly จึงแปลเพี้ยนเป็น “ไร้สมรรถภาพ” ไปได้?

ก็เพราะว่า willy เป็นคำเอ็นดูคำหนึ่งที่ใช้เรียก “ไอ้นั่น” ของผู้ชาย ส่วน nilly มาจากคำว่า nil ซึ่งแปลว่า ศูนย์ (The score is tied at nil-nil. = คะแนนเสมอกันศูนย์ศูนย์) ไม่มีอะไร

อีกคำคือ negligent ซึ่งปกติเป็นวิเศษณ์แปลว่า เลินเล่อ ประมาท ละเลย เช่น The city was found negligent in the hit-and-run case. = เทศบาลถูกตัดสินว่าละเลยหน้าที่ในคดีชนแล้วหนี วิธีจำง่ายๆ ก็คือมีรากศัพท์เดียวกันกับกริยา neglect = ละเลย

แต่ความหมายเพี้ยนที่ปรากฏใน WPSI คือ สภาพที่ผู้หญิงไปเปิดประตูรับแขกโดยไม่ทันคิดโดยใส่เพียงชุดนอน

ที่เล่นคำแปลเป็นอย่างนี้ได้ก็เพราะ negligee (เน็กกลิเจ่) แปลว่า ชุดนอนผู้หญิง (สำหรับคำแปลเพี้ยนอื่นๆ จาก WPSI โปรดไปดูได้ที่บล็อกของผม)

สมัครเป็นสมาชิก ดาวน์โหลดฟรีอีบุ๊ค "ฟอไฟฟุดฟิดอังกฤษอเมริกัน เล่ม 1"

* indicates required
boonhod@hotmail.com
Copyright (C) 2019 by Jakkrit Srivali. All rights reserved. สงวนลิขสิทธิ์ โดย จักรกฤษณ์ ศรีวลี
>
linkedin facebook pinterest youtube rss twitter instagram facebook-blank rss-blank linkedin-blank pinterest youtube twitter instagram