ประโยชน์ส่วนรวม

31 มกราคม - 1 กุมภาพันธ์ 2550

“ทำไมน้อ คนเรา ทำอะไรไม่คิดถึงผลประโยชน์ของชาติบ้านเมืองมั่งเลย”

“อ๊ะ ไม่ยักรู้ว่าเธอสนใจการบ้านการเมืองตั้งแต่เมื่อไหร่”

“การบ้านการเมืองอะไรของเธอกัน มารศรี ฉันแค่หมายถึงอีตาคนขับรถคันข้างหน้าที่เปิดหน้าต่างทิ้งขยะลงข้างถนนนั่นน่ะ คิดถึงแต่ความสะดวกตัวเอง ไม่คิดถึงประโยชน์ส่วนรวมเลย”

“จริงของเธอ แต่ฉันว่าเป็นไปได้ที่เขาไม่คิดถึง the public interest = ประโยชน์ส่วนรวม ก็เพราะบางทีไม่ชัดว่าประโยชน์ส่วนรวมนั้นอยู่ตรงไหน”

“ก็จะอยู่ตรงไหนล่ะ ก็ความสะอาดเรียบร้อยของบ้านเมืองไง”

“แต่บางเรื่องก็ไม่ได้ชัดชนิดขาวดำอย่างนั้นนะ อย่างการที่คนออกมาเดินขบวนเรียกร้องโน่นนี่ ต่อต้านโน่นนี่ เธอว่าแบบนี้จัดว่า in the public interest = เป็นประโยชน์ต่อส่วนรวม ไหม”

“ไม่เป็นแน่นอน ไหนจะทำให้รถติด ไหนจะทำให้ต่างชาติมองว่าเมืองไทยมีแต่ความวุ่นวาย เสียภาพลักษณ์ของประเทศหมด”

“แต่เธอเชื่อไหมว่าต่างชาติที่ว่าของเธอนั่นน่ะกลับมองว่าสิทธิในการประท้วงหรือคัดค้าน ไม่ว่าจะโดยการออกความเห็นทางสื่อหรือออกมาเดินขบวน เป็น part and parcel = ส่วนที่แยกออกไม่ได้ ของประชาธิปไตย”

“แต่ฉันว่ามันแสดงถึงความขาดสามัคคีในสังคมยังไงชอบกลอยู่นา อะไรที่สร้างความแตกแยกในสังคมฉันว่ามันขัดต่อ public interest อะไรของเธอนั่นแน่นอน”

“ก็แล้วแต่ว่าอะไรเป็น priority ของเธอ อะไรเป็นสิ่งที่เธอให้ความสำคัญมากกว่ากัน ความเงียบสงบหรือประชาธิปไตย”

“ถ้าให้ฉันต้องเลือกนะ ฉันเอาความสงบเรียบร้อยมากกว่าประชาธิปไตย ฉันว่าใครๆ ก็ไม่ชอบความวุ่นวายทั้งนั้นแหละ”

“เธอว่านั่นคือ public interest ใช่ไหม แต่ในบางประเทศเขาถือว่าประชาธิปไตยสำคัญกว่าความสงบเรียบร้อยนะ”

“นั่นก็เรื่องของเขา ไม่รู้หละ ฉันว่าของฉันยังงี้แหละ”

“ใช่ นั่นก็เป็นความเห็นของเธอ เป็นสิ่งที่ subjective คำนี้ไม่ได้เกี่ยวอะไรกับ subject ที่หมายถึงประธานประโยคนะ แต่หมายความว่ามันขึ้นอยู่กับแต่ละคนมอง ปัญหาอยู่ตรงที่แต่ละคนจะ prioritize = เรียงลำดับความสำคัญต่างกันว่าอะไรเป็นประโยชน์ส่วนรวมมากกว่ากัน เพราะมีมุมมองต่างกัน”

“พูดอะไรของเธอน่ะ มารศรี ชักปวดกระโหลกแล้วนะเนี่ย”

“ประเด็นของฉันก็มีแค่เพียงว่าประโยชน์ส่วนรวมที่เธอมอง กับประโยชน์ส่วนรวมที่ฉันมอง มันอาจจะต่างกันก็ได้”

“ถ้ายังงั้นเธอมองผิด ฉันมองถูก แบร่”

“ถ้าเธอมองอย่างนั้นแสดงว่าเธอไม่มีจิตใจประชาธิปไตยแล้ว”

“ก็ประชาธิปไตยมันกินได้ซะที่ไหนล่ะ แม่นักเรียนนอกเอ๊ย”

“ก็อย่างนี้สิ เธอต้องมองว่าคนไทยด้วยกันทั้งนั้น เราจะหา common ground ได้อย่างไร”

“common ground พื้นดินธรรมดาเนี่ยนะ ก็มีอยู่ทั่วไปนี่”

“ไม่ใช่ common ground หมายถึง พื้นที่ที่เห็นพ้องกัน แม้ว่าอาจจะเห็นไม่ตรงกันในหลายๆ เรื่อง You have to find common ground. = เธอต้องหาเรื่องที่สามารถตกลงกันได้ แล้วอย่างอื่นก็จะตามมา”

สมัครเป็นสมาชิก ดาวน์โหลดฟรีอีบุ๊ค "ฟอไฟฟุดฟิดอังกฤษอเมริกัน เล่ม 1"

* indicates required
boonhod@hotmail.com
Copyright (C) 2019 by Jakkrit Srivali. All rights reserved. สงวนลิขสิทธิ์ โดย จักรกฤษณ์ ศรีวลี
>
linkedin facebook pinterest youtube rss twitter instagram facebook-blank rss-blank linkedin-blank pinterest youtube twitter instagram