16-18 มกราคม 2550
ในโลกของข่าวสารยุคปัจจุบัน ภาษาเป็นอาวุธสำคัญในการ win hearts and minds = ชนะความคิดจิตใจ ของคนทั่วไป
ไม่ว่าคุณเป็นบริษัทที่ต้องการ push your products = ผลักดันสินค้าของคุณ ให้อยู่ในใจของผู้บริโภค เป็น NGO ต่อต้านโน่นต่อต้านนี่ หรือเป็นนักการเมืองที่ต้องการผลักดันวาระ (ไม่ว่าจะซ่อนเร้นหรือโจ่งแจ้ง) บางอย่าง สิ่งที่คุณต้องทำคือใช้ภาษาที่ชี้นำให้ผู้ฟังหรือผู้อ่านคล้อยตามโดยไม่รู้ตัว
ในทางตรงข้าม ถ้าคุณเป็นผู้บริโภคข่าวสารหรือสื่อ คุณก็ควรรู้ทันว่าคนอื่นใช้วิธีอะไรเพื่อปั่นหัวคุณให้คิดหรือรู้สึกตามที่เขาต้องการ
Loaded language หมายถึง ภาษาที่ไม่เป็นกลาง และเราพบเห็นมันได้แทบทุกครั้งที่เราอ่านอะไรที่ต้องการให้เราคิดหรือรู้สึกบางอย่าง
เช่น The beheading was the work of ill-intentioned people. = การฆ่าตัดหัวเป็นผลงานของผู้ประสงค์ร้าย
แต่จริงๆ แล้วคงไม่มีผู้ประสงค์ดีที่ไหนที่ฆ่าตัดหัว สร้างความหวาดกลัว ดังนั้นคำว่า ill-intentioned = เจตนาร้าย ประสงค์ร้าย จึงไม่มีประโยชน์หรือเพิ่มความหมายให้กับประโยคนี้เลย หากตัดออกไปก็ไม่เสียหายอะไร
แต่ก็ทำให้ประโยคเหลือเพียง The beheading was the work of people. = การฆ่าตัดหัวเป็นผลงานของคน ซึ่งก็แหงอยู่แล้ว คงไม่ใช่เทวดาหรือผีที่ทำ
ประโยคทำนองนี้จึงไม่มีประโยชน์ในการสื่อข้อมูล เพราะไม่มีข้อมูลที่จะสื่อ ประโยชน์ที่มีก็เพียงในด้านการโฆษณาชวนเชื่อ
และที่สำคัญเป็นการบ่งบอกว่าเจ้าของประโยคไม่มีข้อมูลเป็นชิ้นเป็นอัน ยัง in the dark = มืดแปดด้าน อยู่ว่าใครเป็นผู้กระทำ
ส่วนสำคัญของการสื่อสารคือเพื่อให้คนอื่นคล้อยตามคุณ ถ้าคุณทำอะไรไม่ดีก็ไม่อยากให้เขาเห็นว่าไม่ดี และถ้าคู่อริของคุณทำอะไรไม่ดีก็อยากให้คนอื่นเห็นว่าคู่อริของคุณนั้นชั่วร้ายประดุจปีศาจ
Doublespeak เป็นภาษาที่ใช้คำธรรมดาสื่อความหมายที่ไม่ธรรมดา มักจะนิยมใช้โดยภาครัฐและบรรษัทใหญ่ๆ เพื่อกลบเกลื่อนความร้ายกาจด้วยภาษาพื้นๆ หรือแม้แต่ฟังน่ารัก
อย่างในภาษาไทยเรามีคำว่า อุ้ม ซึ่งกลายมามีความหมายว่าลักพาตัวแล้วนำไปฆ่า
Doublespeak เป็นการใช้ euphemisms = คำแทนที่ฟังดีกว่า (หรือแม้แต่ตรงข้ามกับ) คำที่สื่อความหมายตรงๆ และใช้สำนวนที่ฟังเรียบๆ เพื่อซ่อนเร้นความหมายที่ร้ายกาจ
เช่นเมื่อใดก็ตามที่คุณเห็นชื่อประเทศที่มีคำว่า People’s และ/หรือ Democratic ก็สามารถสันนิษฐานไว้ก่อนได้เลยว่าเป็นประเทศเผด็จการ
และเวลาคุณฟังนักการเมือง เมื่อใดก็ตามที่มีการพูดถึงประโยชน์สูงสุดของประเทศชาติ ก็ให้ระวังไว้ดีๆ เถอะว่าประเทศชาตินั้นหมายถึงญาติสนิทมิตรสหายของเขาหรือเปล่า
ในวงการสายลับก็มีสำนวนที่เป็น jargon = ศัพท์สำนวนเฉพาะสาขาวิชาชีพ อย่าง wet work
เราฟังสำนวนนี้ก็คงคิดถึงงานที่ต้องเจอน้ำ เช่นงานประดาน้ำ ใช่ไหมครับ แต่ความจริงมันกลับหมายถึงงานสังหารคน เพราะ wet ในที่นี้ไม่ได้หมายถึง “เปียก” จากน้ำครับ แต่เปียกจากเลือด
เวลาเราต้องการหลอกคนโดยมี plausible deniability = ปฏิเสธได้โดยที่เหตุผลพอรับฟังได้ (หรือพูดง่ายๆ ก็คืออ้างได้ว่าไม่ได้ตั้งใจหลอกอย่างโจ่งแจ้ง) วิธีหนึ่งคือการใช้ภาษาที่เป็น code = รหัส
Code ในที่นี้ไม่ได้หมายถึงรหัสแบบใน Da Vinci Code นะครับ แต่ก็คล้ายกันตรงที่มีความหมายหลายระดับ ถ้าดูเผินๆ ก็เหมือนกับมีความหมายอย่างหนึ่ง แต่ถ้าเราอยู่ในวงในก็จะทราบว่ามันมีความหมายอีกอย่างหนึ่ง
ในแวดวงซื้อขายบ้านที่อเมริกาจะมีการใช้ code words ซึ่งคนทั่วไปนึกว่ามีความหมายตรงตัวตามที่ปรากฏในดิก แต่ความจริงแล้วมีความหมายอีกอย่างซึ่งรู้กันเฉพาะคนในวงการ
อย่างคำว่า fantastic, spacious, charming, great neighborhood หรือเพียงเครื่องหมายอัศเจรีย์ (!) ดูเผินๆ เหมือนกับเป็นคำดีๆ สำหรับใช้บรรยายลักษณะเด่นของบ้าน ใช่ไหมครับ
ความจริงแล้วคำเหล่านี้เป็นคำที่มืออาชีพเห็นแล้วจะส่ายหน้าหนี เพราะ อย่าง fantastic = วิเศษ มหัศจรรย์ หรือ charming = น่ารัก ต่างเป็นคำที่กว้างและกำกวมมาก ส่อว่าเป็นบ้านที่ไม่มีจุดพิเศษอะไร
ส่วน spacious = กว้างขวาง ก็เป็น code word สำหรับบ้านที่เนื้อที่มากแต่อาจจะเก่าโทรมไม่ได้เรื่อง
Great neighborhood = ละแวกรอบบ้านเยี่ยม ยิ่งหมายความว่าตัวบ้านเองไม่มีอะไรดีเลย ถึงต้องโฆษณาบ้านใกล้เรือนเคียง
ยิ่งเครื่องหมายอัศเจรีย์นี่ยิ่งแย่ไปใหญ่ เพราะแสดงว่าคนโฆษณานึกคำไม่ออกว่าบรรยายอย่างไร จึงต้องทำทีเป็นว้าวตื่นเต้น
Session expired
Please log in again. The login page will open in a new tab. After logging in you can close it and return to this page.