สงครามวัฒนธรรม

20 พฤษภาคม 2552 

รอยร้าวที่สร้างความแตกแยกให้กับสหรัฐอเมริกามากที่สุดไม่ใช่ชนชั้น แต่เป็น “วัฒนธรรม” 

อเมริกาได้ต่อสู้สิ่งที่เรียกว่า culture wars สงครามวัฒนธรรม มาตั้งแต่สงครามเวียดนามสิ้นสุดลงแล้ว เป็นสงครามที่คนภายนอกอาจจะดูไม่ออก เพราะไม่มีการจัดตั้งกองทัพออกมารบกัน แต่ถ้าเราติดตามการเมืองอเมริกันก็จะมองเห็นว่าคู่ต่อสู้เป็นใครและสู้กันเพราะอะไร 

ฝ่ายหนึ่งคือพวกที่มองตัวเองเป็นผู้รักษาค่านิยมอันดีงามของสังคม ฝ่ายนี้มักจะอ้างเหตุผลทางศีลธรรมจรรยา ศาสนาและจารีตประเพณี 

ส่วนอีกฝ่ายคือพวกที่ต้องการให้สังคมเป็นไปตามค่านิยมในอุดมคติเสรีนิยมที่เป็นพื้นฐานของสังคมอเมริกัน พวกนี้มักจะอ้างกฎหมาย รัฐธรรมนูญ สิทธิเสรีภาพและประชาธิปไตย 

ฝ่ายแรกเรียกหลวมๆ ว่าเป็นพวก conservative (คันเซ้อร์ฝะถิฟ) อนุรักษ์นิยม ซึ่งมีฐานทางการเมืองเป็นพรรค Republican ซึ่งถอดความตรงตัวได้ว่าสาธารณรัฐนิยม 

ฝ่ายหลังเป็นพวก liberal (ลิบบรั่ล) เสรีนิยม ซึ่งมีฐานทางการเมืองเป็นพรรค Democrat ซึ่งถอดความตรงตัวได้ว่าประชาธิปัตย์ 

แต่ฝ่าย conservative ประสบความสำเร็จอย่างสูงในการป้ายสีฝ่าย liberal จนคนอเมริกันส่วนใหญ่และแม้แต่สมาชิกพรรค Democrat เองก็ไม่นิยมเรียกตัวเองว่าเป็น liberal 

ที่น่าสนใจคือคนอเมริกันส่วนใหญ่อยู่ตรงกลาง ไม่สุดโต่งเหมือนพวกที่ประกาศจุดยืนตัวเองชัดเจน แต่มีท่าทีที่หยิบเลือกเอาบางส่วนจากฝ่ายโน้นบางส่วนจากฝ่ายนี้มาผสมคละเคล้ากันเป็นของตัวเอง 

ถึงตอนนี้คุณอาจสงสัยว่าอีแค่เรื่องวัฒนธรรมเนี่ยนะ ถึงกับต้องทำสงครามกัน เพราะคุณอาจคิดถึงเรื่องวัฒนธรรมแบบกระทรวงวัฒนธรรมของไทย ซึ่งมีหน้าที่สำคัญๆ เช่นสั่งห้ามใส่เสื้อสายเดี่ยวเล่นสงกรานต์ สั่งห้ามขายถุงยางอนามัยยี่ห้อ ทอม ดันดี สั่งห้าม Hi5 เพราะมีคนใช้เป็นสื่อโฆษณาขายบริการทางเพศ ฯลฯ 

Culture wars ของสหรัฐมีบริบทที่แตกต่างกัน ดังนั้นประเด็นเช่นว่าการใส่เสื้อสายเดี่ยวเป็นการล่อตะเข้หรือไม่นั้นจะไม่เป็นประเด็นเลย เพราะฝรั่งถือว่าไม่ว่าผู้หญิงจะแต่งตัวยังไงก็เป็นสิทธิ์ของเธอ และถึงยังไงผู้ชายก็ไม่มีสิทธิ์ที่จะไปละเมิดเธอ จะอ้างว่าเธอแต่งตัวยั่วไม่ได้ เพราะคุณเป็นมนุษย์ ต้องรู้จักควบคุมตัวเอง 

Culture wars ครอบคลุมหลายประเด็นที่เรียกว่า hot-button issues = ประเด็นปุ่มร้อน คือถ้าหยิบยกขึ้นมาคุยในบทสนทนาก็มีสิทธิ์วางมวยกันได้ถ้าเป็นคนไทย แต่ถ้าเป็นฝรั่งก็อาจจะเกลียดกันเฉยๆ 

ประเด็นเหล่านี้มีเช่น abortion = การทำแท้ง the right to bear arms = สิทธิในการพกพาปืน separation of church and state = การแยกระหว่างศาสนาและการเมือง privacy = สิทธิส่วนตัว censorship = การเซนเซอร์ ฯลฯ 

แต่ที่น่าสนใจคือไม่ว่าคนอเมริกันจะแตกสามัคคีด้านความคิดแค่ไหน แต่ก็ไม่ค่อยใช้ความรุนแรงตัดสิน 

เป็นเพราะว่าคนอเมริกันเป็นชาติที่รักสงบเป็นพิเศษ เหนือกว่าชาติอื่นๆ กระนั้นหรือ 

ไม่ใช่หรอกครับ สหรัฐมีอัตราฆาตกรรมสูงไม่น้อย การตายจากปืนต่อหัวก็สูงที่สุดในโลก ดังนั้นคงไม่ใช่สังคมที่รักสงบเท่าไหร่หรอก (เรื่องปืนทั่วบ้านทั่วเมืองเนี่ย ฝ่าย liberals ต้องการให้มี gun control = การควบคุมปืน แต่ฝ่าย conservatives ถือว่าการครอบครองปืนเป็นสิทธิตามรัฐธรรมนูญ ดังนั้นถ้าจะพูดเรื่อง gun control ก็ต้องหมายถึงการควบคุมกระบอกปืนไม่ให้กระตุกเมื่อเหนี่ยวไก) 

และก็มีการใช้ความรุนแรงในบางกรณีเพื่อพยายามเอาชนะฝ่ายตรงข้าม แต่ความพยายามเหล่านั้นก็ไม่ประสบผลสำเร็จ ไม่ได้ทำให้ใครเปลี่ยนใจ และมิหนำซ้ำยังสร้าง backlash = กระแสต่อต้านโต้กลับ ย้อนรอยผู้ใช้ความรุนแรงอีกด้วย 

แต่ที่สำคัญที่สุดคือผู้ที่ใช้ความรุนแรงก็ถูกดำเนินคดีตามกฎหมายอาญาตามปกติ ติดคุกหรือถูกประหารชีวิตไปตามระเบียบโดยไม่มีข้อยกเว้นเพื่อเห็นแก่สมานฉันท์แต่อย่างใด 

เท่าที่ผ่านมาความรุนแรงจาก culture wars สงครามวัฒนธรรม ของสหรัฐส่วนใหญ่เกิดจากประเด็นสิทธิในการทำแท้ง ซึ่งกฎหมายปัจจุบันอนุญาตให้ทำได้ตามคำตัดสินของศาลสูงสุดในคดี Roe v. Wade  

ศาลสูงสุดตัดสินให้ผู้หญิงมีสิทธิในร่างกายของตน ดังนั้นจึงมีสิทธิที่จะทำแท้งได้ เพราะเป็นคนที่รู้สถานการณ์ของตัวเองดีที่สุดและต้องรับผลจากการตัดสินใจนั้น (ท่าทีนี้เรียกว่า pro-choice) 

แต่ฝ่าย conservative ที่เรียกจุดยืนตัวเองว่า pro-life ถือว่าทุกชีวิตมีค่า ดังนั้นผู้หญิงไม่ควรมีสิทธิที่จะทำลายชีวิตที่อยู่ในครรภ์ของตน และถือว่าหมอที่ช่วยในการทำแท้งก็เป็นฆาตกรไปด้วย 

พวกหัวรุนแรงต่อต้านการทำแท้งจึงใช้ความรุนแรงเพื่อต่อต้านสิ่งที่พวกตนเห็นว่าขัดต่อศาสนาและศีลธรรม เช่นโดยวางระเบิด วางเพลิงคลินิกทำแท้ง หรือพยายามฆ่าหมอและเจ้าหน้าที่คลินิกทำแท้ง  

พวก pro-life ที่กลายเป็นฆาตกรเสียเองก็ถูกตัดสินประหารชีวิตบ้าง จำคุกตลอดชีวิตบ้าง บางคนก็ฆ่าตัวตายในคุก แต่หลายคนที่วางเพลิงหรือวางระเบิดคลินิกก็ลอยนวลเพราะจับมือใครดมไม่ได้ 

พวกนี้ถือว่า the ends justify the means = เป้าประสงค์มีความสำคัญพอที่จะใช้วิธีอะไรก็ได้เพื่อที่จะบรรลุ จึงพยายามเอาชนะแบบ by hook or by crook = ไม่ได้ด้วยเล่ห์ก็ด้วยกล คือใช้ทุกวิถีทางยังไงก็ได้ 

แต่ที่อเมริกาใครพร้อมที่จะก่อกรรมก็ต้องพร้อมที่จะรับผลกรรมทางกฎหมายที่ตามมาด้วย ดังนั้นสงครามวัฒนธรรมของสหรัฐแม้จะเผ็ดมันทางความคิดเพียงใดส่วนใหญ่ทั้งสองฝ่ายก็ยังยึดมั่นในสันติวิธี 

สมัครเป็นสมาชิก ดาวน์โหลดฟรีอีบุ๊ค "ฟอไฟฟุดฟิดอังกฤษอเมริกัน เล่ม 1"

* indicates required
boonhod@hotmail.com
Copyright (C) 2019 by Jakkrit Srivali. All rights reserved. สงวนลิขสิทธิ์ โดย จักรกฤษณ์ ศรีวลี
>
linkedin facebook pinterest youtube rss twitter instagram facebook-blank rss-blank linkedin-blank pinterest youtube twitter instagram