7-8 มีนาคม 2550
“นี่มารศรี คนอเมริกันทำไมถึงเอาจริงเอาจังกันจังเลย ในชั้นเรียนของฉันพวกเพื่อนๆ ชอบเถียงกันยังกะจะเอาเป็นเอาตาย”
“ฉันว่าอาจไม่ใช่แค่คนอเมริกันมัง เธอเคยเห็นหนังสือของ Amartya Sen หรือเปล่าที่ชื่อ The Argumentative Indian ในนั้นเขาเขียนว่าคนอินเดียเป็นชาติที่ argumentative = ชอบต่อล้อต่อเถียง ก็น่าสังเกตนะว่าชาติที่ชอบเถียงเป็นชาติประชาธิปไตยระดับยักษ์ใหญ่ทั้งคู่”
“ฉันไม่สนหรอก ที่ฉันโทรมานี่ก็แค่อยากปรึกษาว่าทำไมอเมริกาเขาถึงชอบให้นักศึกษาออกความเห็นกันจัง ไอ้เราก็อยากฟังอาจารย์บรรยายจะได้จดลงสมุด แต่ที่ไหนได้ อาจารย์กลับอยากฟังว่าฉันคิดยังไงเกี่ยวกับเรื่องโน้นเรื่องนี้ ยังกะว่าความคิดของฉันมีค่าอะไรนักหนา”
“คงเป็นเพราะอาจารย์ยังไม่รู้จักเธอดีพอมั้ง ฮิๆ ล้อเล่นนะ ก็ฝรั่งเขาถือว่าหน้าที่ของนักศึกษาคือ think for yourself = คิดด้วยสมองของตัวเอง แบบกาลามสูตรไง ไม่ใช่ว่าอาจารย์บอกว่าอย่างนี้ก็ต้องเป็นอย่างนี้”
“ก็ฉันเคยแต่จดตามอาจารย์บอกนี่ ถึงเวลาสอบก็ท่องจำที่อาจารย์สอน”
“เพื่ออะไร เพื่อที่จะ regurgitate = สำรอกคืน สิ่งเหล่านั้นให้กับอาจารย์หรือ แล้วอย่างนี้ความรู้มันจะพัฒนาก้าวหน้าไปได้อย่างไรเล่า โลกเรากำลังเปลี่ยนแปลงไปเร็วแค่ไหนเธอก็รู้ แล้วมามัวแต่ท่องจำสิ่งที่เธอเปิดหาในหนังสือหรือในเว็บได้มันจะมีประโยชน์อะไร เธอต้องหัดเถียงอาจารย์เถียงเพื่อนๆ จะได้รู้จุดอ่อนจุดแข็งในความคิดของตัวเอง จะได้เขยิบเข้าใกล้ความจริงมากขึ้น”
“จะไปเถียงเขาได้ยังไงล่ะ พวกฝรั่งเถียงกันเป็นไฟทั้งนั้น ไม่ยอมลดราวาศอกกันเลย แบบนี้เขาเรียกว่าอะไรนะภาษาฝรั่งน่ะ”
“ไม่ยอมลดราอะไรนะ อากาศชื้นมากอย่างนั้นหรือ”
“แม่นักเรียนนอกเอ๊ย ไม่เกี่ยวอะไรกับเชื้อราทั้งสิ้น เป็นสำนวนไทยย่ะ ไม่ยอมลดราวาศอกหมายความว่าไม่ยอมถอยแม้แต่นิดเดียว ฉันแค่พยายามบอกว่าสมัยที่ฉันไปเรียนอเมริกาเพื่อนร่วมชั้นของฉันชอบเถียงกันแบบเอาเป็นเอาตาย ทั้งๆ ที่ไม่ได้เป็นเรื่องสำคัญอะไรเลย แค่ความคิดเอง และที่ยิ่งแปลกคือแทนที่อาจารย์จะพยายามห้ามกลับส่งเสริมให้เถียงกันอีก”
“แล้วไง Did they come to blows?”
“พูดฝรั่งปนไทยอีกแล้ว เดี๋ยวๆ ไม่ต้องเฉลย เธอถามว่า แล้วพวกเขามาเป่ากันหรือเปล่า เอ เอ้อ เฉลยก็ได้”
“ฉันแค่ถามเธอว่า แล้วเขาถึงขั้นชกต่อยตบตีกันหรือเปล่า blows ในที่นี้ไม่เกี่ยวกับการเป่า แต่หมายถึงการต่อยตี คนเราทะเลาะกันบางทีก็อาจ come to blows ได้ อย่าลืมใส่ s ท้ายคำว่า blows นะ มิฉะนั้นจะแปลว่า มาเป่า”
“โอเค เขาก็ไม่ถึงต่อยตีกันหรอก ฉันก็ลุ้นๆ อยู่เหมือนกัน ความจริงเขาก็ไม่ได้เถียงกันรุนแรง แต่เถียงอย่างจริงจัง ไม่ยอมกัน”
“อ๋อ อย่างนั้นก็อาจใช้สำนวนว่า give no quarter เช่น The opposing camps gave no quarter to the other. = ฝ่ายตรงข้ามกันต่างไม่ยอมอีกฝ่าย คือไม่ยอมลดราวาศอกอย่างที่เธอว่า หรืออาจใช้สำนวน take no prisoners ก็ได้ แปลตรงตัวคือ ไม่จับเชลย พูดง่ายๆ คือฆ่าหมดจนไม่เหลือเชลยให้จับ ว่าอย่างนั้นเถอะ ความหมายในเชิงสำนวนคือ จริงจังมุ่งมั่น ไม่สนว่าคนอื่นคิดอย่างไร เช่น His take-no-prisoners style made him plenty of enemies. = สไตล์มุ่งมั่นไม่แคร์ใครของเขาทำให้เขามีศัตรูเพียบ”
Session expired
Please log in again. The login page will open in a new tab. After logging in you can close it and return to this page.