เสียงสับสน

27 กันยายน 2548 

คอมพิวเตอร์ผมที่ใช้เขียนคอลัมน์นี้อายุราว 5 ขวบแล้ว ถ้าเป็นคนก็ถือว่ายังเป็นเด็กอยู่ แต่เมื่อเป็นคอมพิวเตอร์ก็ถือว่าชราภาพแล้ว จึงมีปัญหามากขึ้นเรื่อยๆ แต่ก็ประคับประคองกันมาตลอด 

ในที่สุดวันหนึ่งมันก็ตายสนิท เยียวยาเท่าไหร่ก็ไม่ฟื้น คำถามของคุณผู้อ่านที่ยังค้างไม่ได้ตอบยังอยู่ในเครื่องนั้น ผมจึงต้องใช้อีกเครื่องเขียนคอลัมน์  

ดังนั้นช่วงนี้มาดูเรื่องที่คุณไม่ได้ถาม (แต่ควรรู้) กันหน่อยแล้วกันนะครับ นั่นคือเรื่องของคำที่แม้แต่ฝรั่งก็มักจะใช้ผิด เพราะออกเสียงเหมือนกันแต่สะกดต่างกัน

คำแบบนี้เรียกว่า homophones แต่โดยที่มันเขียนต่างกันและความหมายก็ต่างกันด้วย ถ้าคุณใช้ผิดก็จะอาจทำให้ความหมายเข้ารกเข้าพงไปได้ แถมความน่าเชื่อถือของคุณในฐานะผู้รู้ภาษาอังกฤษอาจจะลดลงได้อีกด้วย 

ความจริงคำประเภทนี้มีอยู่หลายตัว แต่ผมจะขอหยิบยกเฉพาะที่เห็นบ่อยๆ แล้วกันนะครับ คู่แรกคือ affect (อัฟเฟ็คทํ) กับ effect (เอ็ฟเฟ็คทํ) 

affect ส่วนใหญ่จะเป็นกริยาแปลว่า มีผลต่อ เช่น Global warming is affecting human lives in a tangible way. = การอุ่นตัวของโลกกำลังมีผลต่อชีวิตมนุษย์อย่างจับต้องได้ ถ้าใช้เป็นนามก็ใช้เฉพาะในวิชาจิตวิทยาแปลว่า “อารมณ์ความรู้สึก” 

ส่วน effect โดยมากจะเป็นนามแปลว่า ผล เช่น The unusually severe hurricane may have been an effect of global warming. = พายุเฮอริเคนที่รุนแรงผิดปกติอาจเป็นผลมาจากการอุ่นตัวของโลก 

ถ้าใช้เป็นกริยาก็แปลว่า ทำให้ (บางอย่าง) เกิดขึ้น เช่น He tried to effect change at the company. = เขาพยายามให้เกิดความเปลี่ยนแปลงในบริษัท 

คำอีกคู่หนึ่งที่มักจะสับสนคือ capital กับ capitol ซึ่งออกเสียงว่า แค็บผิถั่ล ทั้งสองคำ ความจริงเคยเขียนถึงแล้ว แต่มันเข้าเรื่องที่เรากำลังพูดกันอยู่พอดี 

capital แปลว่า นครหลวง บางทีเราจะเห็นคนใช้ว่า capital city แต่ความจริงเรียกว่า capital เฉยๆ ก็ประหยัดได้หนึ่งคำและได้ความหมายเดียวกัน นอกจากว่าเราต้องการจะเน้นว่าเราพูดถึงเมือง ไม่ได้พูดถึง capital ที่แปลว่า ทุน 

ส่วน capitol หมายถึงตึกที่ฝ่ายนิติบัญญัติสหรัฐฯ ประชุมกัน ถ้าคุณไปกรุง Washington, D.C. ซึ่งเป็น capital ของสหรัฐอเมริกา ก็จะเห็น Capitol Building = ตึกรัฐสภา ตั้งอยู่บน Capitol Hill = เนินรัฐสภา และถ้าไปที่เมืองหลวงของแต่ละรัฐก็จะเห็น State Capitol Building ซึ่งเป็นตึกรัฐสภาของรัฐนั้นๆ 

อีกคู่ที่ใช้กันผิดเป็นประจำ ไม่ว่าจะไทยหรือฝรั่ง คือ principal กับ principle ซึ่งต่างออกเสียงว่า พริ้นสิผึ่ล (ถ้าพูดเร็วๆ เสียง “สิ” ก็จะกลายเป็นแค่เสียง “ส”) 

principal ถ้าเป็นนามแปลว่า ครูใหญ่ หรือ บุคคลหลักขององค์กร หรืออาจจะแปลว่า เงินต้น ก็ได้ ซึ่งทำให้เราต้องตีความคำพวกนี้ให้ดีในประโยคเช่น The principal has no interest in the principal, only in the interest. = ครูใหญ่ไม่สนใจเงินต้น สนใจแต่ดอกเบี้ย 

แต่ principal ไม่ได้เป็นนามเสมอไปครับ อาจเป็นวิเศษณ์ก็ได้ เช่น Our principal aim is to serve people. = จุดมุ่งหมายหลักของเราคือการบริการคน (แต่ถ้าเป็นมนุษย์กินคนพูดก็อาจจะหมายความว่า จุดมุ่งหมายหลักของเราคือการเสิร์ฟคนเป็นอาหาร ชะกึ๋ยย์) 

ส่วน principle แปลว่า หลักการ เช่น The principal is a man of principle. = ครูใหญ่เป็นคนที่ยึดมั่นในหลักการ 

คำง่ายๆ ที่ฝรั่งใช้กันทุกวันก็ไม่ได้หมายความว่าจะปลอดภัยจากการใช้ผิดสลับกับคำที่ออกเสียงคล้ายกันนะครับ 

อย่างคำว่า their กับ there กับ they’re ซึ่งออกเสียงเหมือนกันหมดทั้งสามคำ ฝรั่งสมัยนี้มักจะเขียนสลับกันบ่อยๆ 

เหตุผลหนึ่งอาจเพราะว่ายุคอินเตอร์เน็ตเปิดโอกาสให้คนที่แต่ก่อนไม่มีปากมีเสียงสามารถมีปากมีเสียงได้ (แม้แต่ขอทานก็สามารถเขียน blog ซึ่งมีคนเข้าไปอ่านจากทั่วโลก) แต่หลายคนอาจจะมีพื้นฐานภาษาอ่อน คำเขียนผิดก็เลยแพร่ระบาดไปทั่ว แม้แต่ในหมู่เจ้าของภาษาเอง 

ดูเหมือนว่าฝรั่งหลายคนไม่รู้ว่าสามคำนี้ไม่ควรใช้ปนกันมั่ว ไม่รู้ว่า their แปลว่า ของพวกเขา (เช่น They want a house of their own. = พวกเขาต้องการบ้านของตัวเอง) 

ส่วน there แปลว่า ที่นั่น (เช่น I saw someone there. = ฉันเห็นใครบางคนอยู่ที่นั่น) หรือถ้าเป็นคำอุทานก็แปลว่า “นี่แน่ะ” (เช่น There! It’s done! = นี่แน่ะ เสร็จแล้ว) และถ้าใช้สองครั้งติดๆ กันเป็น There, there. ก็เป็นคำปลอบใจ (เช่น There, there. It’s all right. = เอาน่า ไม่เป็นไรนะ) 

และ they’re เป็นคำรวบมาจาก they are (เช่น They’re over there with their friends. = พวกเขาอยู่ที่นั่นกับเพื่อนๆ ของเขา 

คู่คำที่มีคนสับสนทำนองเดียวกันก็มีอีกครับ เช่น your กับ you’re (your แปลว่า ของคุณ you’re เป็นคำรวบมาจาก you are) its กับ it’s (its แปลว่า ของมัน it’s เป็นคำรวบมาจาก it is) และ whose กับ who’s (whose แปลว่า ของใคร และยังมีวิธีใช้อื่นๆ ที่น่าสนใจอีก ส่วน who’s รวบจาก who is = ผู้ซึ่งเป็น) 

สมัครเป็นสมาชิก ดาวน์โหลดฟรีอีบุ๊ค "ฟอไฟฟุดฟิดอังกฤษอเมริกัน เล่ม 1"

* indicates required
boonhod@hotmail.com
Copyright (C) 2019 by Jakkrit Srivali. All rights reserved. สงวนลิขสิทธิ์ โดย จักรกฤษณ์ ศรีวลี
>
linkedin facebook pinterest youtube rss twitter instagram facebook-blank rss-blank linkedin-blank pinterest youtube twitter instagram