ขอบเขตเสรีภาพ

17-19 เมษายน 2550

“สิทธิเสรีภาพในการแสดงออกของอเมริกามีขอบเขตมั่งไหม มารศรี หรือว่าใครอยากจะลบหลู่ใครดูหมิ่นสถาบันอะไรก็ทำได้โดยเสรี”

“เราชอบนึกว่าอเมริกาเป็นประเทศที่เสรีภาพสูงมาก แต่ความจริง freedom of speech = เสรีภาพในการพูด ของเขาก็มีขอบเขตเหมือนกันนะ”

“ฉันว่าแล้วเชียวว่าไอ้กันนี่ต้องเป็นพวกมือถือสากปากถือศีล ชอบมาบอกชาวบ้านให้ทำอย่างโน้นอย่างนี้... แล้วขอบเขตที่ว่านั้นอยู่ตรงไหนจ๊ะ มารศรี”

“รัฐธรรมนูญเขาไม่ได้กำหนดลงไปตายตัวหรอก แต่เขียนไว้กว้างๆ ไว้ใน Bill of Rights เพื่อที่คนในแต่ละยุคสมัยจะได้ตีความปรับใช้ ก็เลยต้องมีการทดสอบกันอยู่เรื่อยๆ ว่าขอบเขตอยู่ตรงไหนโดยอาศัยระบบศาล”

“ศาลรัฐธรรมนูญน่ะเหรอ”

“เปล่า อเมริกาไม่มีศาลรัฐธรรมนูญ ถ้าตัดสินไม่ได้ชั้นสุดท้ายก็ใช้ Supreme Court = ศาลฎีกา ตัดสินข้อกฎหมายที่ไม่แน่ชัดว่าขัดต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่ แล้วคำตัดสินนั้นก็จะกลายเป็น precedent สำหรับคดีอื่นต่อไป”

“อะไรกัน เป็นประธานาธิบดีสำหรับคดีอื่นเหรอ”

“ไม่ใช่ president จ้ะ precedent แปลว่า กรณีที่เคยเกิดขึ้นเป็นตัวอย่าง ออกเสียงว่า เพระสะเดิ่นทฺ ตัว c ออกเป็นเสียง s นะ ส่วน president ที่แปลว่าประธานาธิบดีนั่น ออกเสียงตัว s เป็นเสียง z นอกนั้นเหมือนกันหมด”

“งงง่ะ ฟังไม่เห็นออกเลยว่าแตกต่างกันตรงไหน”

“อย่างนั้นต้องฝึกฟังต่อไปเรื่อยๆ... เอ้า เล่าต่อดีกว่า ศาลฎีกานี่แหละเป็นตัวตัดสินว่าการแสดงออกในกรณีใดกรณีหนึ่งเป็นสิทธิเสรีภาพที่ได้รับการคุ้มครองภายใต้รัฐธรรมนูญหรือเปล่า ยกตัวอย่างเช่น...”

“เดี๋ยวก่อน มารศรี เธอหมายความว่ารัฐธรรมนูญอเมริกันไม่ได้ระบุเหรอว่าสิทธิเสรีภาพในการพูดหรือแสดงออกมีขอบเขตอะไรมั่ง”

“ถูกต้อง ใน First Amendment เขาเขียนเกี่ยวกับเรื่องนี้เพียงว่าไม่ให้รัฐสภาตัดทอน the freedom of speech, or of the press แต่ไม่ได้นิยามว่าเสรีภาพนั้นคืออะไร ก็เลยตกเป็นหน้าที่ของศาลที่จะต้องตัดสินว่า speech ที่ได้รับการคุ้มครองภายใต้รัฐธรรมนูญคืออะไร มีขอบเขตแค่ไหน”

“แล้วอย่างล้อเลียนหรือดูหมิ่นสิ่งที่คนอเมริกันเคารพบูชามากที่สุดนี่หละ เขายอมหรือเปล่า”

“ฉันกำลังจะบอกเธออยู่พอดี สิ่งที่คนอเมริกันเคารพบูชามากที่สุดก็คือธงชาติ แต่ถึงทุกวันนี้ถ้าเธอไปเอาธงอเมริกันมา desecrate (เด๊สสะเขรท) = ย่ำยี ทำปู้ยี่ปู้ยำสิ่งศักดิ์สิทธิ์ เขาก็ไม่สามารถเอาผิดเธอทางกฎหมายได้”

“จริงเหรอ ถ้าฉันเอาธงชาติอเมริกันไปเผาหรือฉีกทิ้งหรือเอาไปพิมพ์เป็นลายกระดาษชำระ ถ้าฉันทำอย่างนี้ในอเมริกาก็ไม่โดนตำรวจจับเหรอ”

“เธอมีจินตนาการที่เลวมาก แต่ถูกต้อง รัฐและรัฐสภาได้ออกกฎหมายคุ้มครองธงชาติมาหลายฉบับแล้ว แต่โดนศาลฎีกาตีตกหมดว่าขัดต่อหลักเสรีภาพในการแสดงออกตามรัฐธรรมนูญ แต่คะแนนก็สูสีนะ 5-4”

“อ้าว แล้วพวกผู้พิพากษาอเมริกันนี่ไม่รักชาติกันมั่งเลยเหรอ”

“เธออย่ามองความรักชาติแบบตื้นๆ อย่างนั้นสิ There’s more to it than meets the eye. = มันมีอะไรมากกว่าที่มองเห็นด้วยตา ธงชาติเป็นสิ่งที่คนอเมริกันเคารพเทิดทูนก็จริง แต่มันไม่ได้ง่ายอย่างนั้น ศาลสรุปว่าชาติอเมริกันตั้งอยู่บนเสรีภาพ ไม่ใช่ตั้งอยู่บนธงซึ่งเป็นเพียงสัญลักษณ์ของชาติ”

“เธอบอกว่าไงนะ There’s more to it than meets the eye. เหรอ ทำไมต้องใช้แบบนี้ด้วยล่ะ ทำไมไม่ใช้ว่า than the eye can see ล่ะ”

“มันเป็นสำนวนไง เขาใช้กันมาอย่างนั้นแต่ไหนแต่ไรแล้ว เป็นการเตือนว่าอย่าเพิ่งด่วนสรุปจากสิ่งที่มองเห็น เพราะมันยังมีอะไรมากกว่านั้นที่มองไม่เห็น”

“แบบแฟนเก่าของฉันมัง มาดดี แต่งตัวดี แต่ที่ไหนได้ หวังแค่จะเอาเงินฉันลูกเดียว ยังดีที่ฉันเพิ่งโดนคนก่อนปอกลอกไปก็เลยไม่มีให้”

“อย่างนั้นคงไม่เรียกว่า There’s more to him than meets the eye. กระมัง น่าจะเป็น There’s less to him มากกว่า ถ้าเธอเจอคนที่ดูธรรมดา ไม่ได้น่าประทับใจอะไรมาก แต่มารู้ทีหลังว่าเขาเป็นคนทั้งดีทั้งเก่งทั้งรวย อะไรทำนองนั้น อย่างนั้นถึงจะเรียกว่า There’s more to him than meets the eye.”

“เอ๊ะ แต่ตอนแรกเธอใช้ว่า it ไม่ใช่เหรอ ไหงตอนนี้กลายเป็น him แล้วล่ะ”

“ก็ตอนแรกฉันพูดถึงเรื่องราวที่ดูเรียบง่าย แต่ความจริงแล้วลึกลับซับซ้อน ก็เลยใช้ it แต่ตอนหลังเธอพูดถึงคน ก็เลยต้องเปลี่ยนเป็น him ไง”

“ภาษาไทยเขาเรียกแบบนี้ว่าน้ำนิ่งไหลลึก

“ภาษาอังกฤษก็มีเหมือนกันเป๊ะเลย คือ Still waters run deep. หรือจะเปรียบเทียบกับภูเขาน้ำแข็งก็ได้เหมือนกัน เป็นสำนวน tip of the iceberg = ปลายยอดภูเขาน้ำแข็ง หมายความว่าส่วนที่เห็นนั้นเป็นแค่ส่วนนิดเดียวของเรื่องราวทั้งหมด เช่น The corruption scandal was just the tip of the iceberg. = กรณีอื้อฉาวคอรัปชั่นนั้นเป็นเพียงส่วนนิดเดียวที่มองเห็นของเรื่องราวทั้งหมด ดังนั้นถ้าเธออยากจะรู้ความจริงทั้งหมดเกี่ยวกับอะไร ก็ต้องกลั้นใจดำน้ำไปดูส่วนที่อยู่ใต้น้ำด้วย”

สมัครเป็นสมาชิก ดาวน์โหลดฟรีอีบุ๊ค "ฟอไฟฟุดฟิดอังกฤษอเมริกัน เล่ม 1"

* indicates required
boonhod@hotmail.com
Copyright (C) 2019 by Jakkrit Srivali. All rights reserved. สงวนลิขสิทธิ์ โดย จักรกฤษณ์ ศรีวลี
>
linkedin facebook pinterest youtube rss twitter instagram facebook-blank rss-blank linkedin-blank pinterest youtube twitter instagram