เบื้องหลังฝน

May 21, 2006

 เมื่อเสาร์ที่ผ่านมาผมไปดูคอนเสิร์ต เบิร์ดกับฮาร์ทครบรอบ 20 ปีที่ Impact Arena

ก็ได้ฟังเพลงที่ไม่ได้ฟังมานานจนแทบจะลืมแล้ว และได้ฟังเพลงที่ผมแต่งเมื่อสมัยเป็นวัยรุ่น แสดงต่อหน้าคนนับหมื่น

เวลามีใครทราบว่าผมแต่งเนื้อเพลง "ฝน" ให้เบิร์ดกับฮาร์ท เขามักจะถามผมว่ามีอะไรดลบันดาลใจ ตอนที่แต่งมีใครอยู่ในใจ ฯลฯ พูดง่ายๆ คือเขามองว่าการแต่งเพลงเป็นเรื่องของการถ่ายทอดอารมณ์ความรู้สึกจากประสบการณ์ที่เราเจอจริงๆ ออกมาเป็นเนื้อเพลง

ความจริงแล้วนั่นเป็นแค่ส่วนเดียวของกระบวนการแต่งเพลงครับ แน่นอน คุณอาจผ่านประสบการณ์มามากมาย โดนหักอก หรือไม่ก็ไปหักอกคนอื่นบ่อยพอที่จะพอจำได้ว่ามันรู้สึกยังไง แต่การแต่งเพลงนั้นจะว่าเป็น art ก็ได้ สำหรับคนที่มีอารมณ์ศิลปินจริงๆ ซึ่งหมายความว่าต้องรอ muse ให้มีแรงบันดาลใจแล้วจึงจะกลั่นร้อยเรียงออกมาเป็นเนื้อเพลง

แต่สำหรับนักแต่งเพลงอาชีพส่วนใหญ่ การแต่งเพลงเป็น craft ซะเยอะครับ เราไม่สามารถนั่งรอให้มีแรงบันดาลใจมาทำให้เราปิ๊งได้ แต่ต้องใช้จินตนาการและเทคนิคบังคับตัวเองให้ผลิตผลงานออกมาซึ่งดูเหมือนว่ากลั่นตรงออกมาจากใจ ทั้งๆ ที่ความจริงแล้วมันกลั่นกรองมาจากสมองมากกว่า

สำหรับเพลง "ฝน" นี่ก็เป็นการแต่งจากสมองล้วนๆ ครับ

กาลครั้งหนึ่งนานมาแล้ว วันนึงฮาร์ทบอกว่ามีทำนองอยากให้พี่แดงฟังแล้วลองแต่งเนื้อดู (สมัยโน้นผมยังอายุยี่สิบกว่าๆ ไม่น่าเชื่อเลยนะ) ผมก็เลยเอาไปฟังอยู่สองวัน แต่ก็ไม่มีแรงบันดาลใจอะไรเป็นพิเศษ

ในวันที่สองก็เลยลองใช้วิธีที่ mechanical ดู คือนึกว่า 6 โน๊ตแรกจะสามารถฟิตคำอะไรเข้าไปในนั้นได้

ตอนนั้นไม่มี concept ไม่มีอะไรทั้งสิ้น ดนตรีก็มีเปียโนอย่างเดียว นึกไปนึกมาก็ได้วรรคแรก "อยากจะลืมใครสักคน" เออ แฮะ มันเข้ากับโน๊ตเหล่านั้นพอดีเป๊ะเลย

ทีนี้วรรคต่อไปจะเอาไงดี คำว่า "คน" มันสัมผัสกับคำอะไรมั่งนะ b บน c คน d ดน f ฟน เอ... ฝน ก็ได้เหมือนกันนี่ "เมื่อหยาดฝน..." หยาดฝนมันทำอะไรดีหว่า "พร่างพรมพริ้วมา" เออ ไม่เลวแฮะ ชักนึกเรื่องราวออกแล้วว่าควรเป็นยังไง

Buddy Kaye อาจารย์แต่งเพลงของผมที่ UCLA Extension เคยสอนว่าเพลงควรเป็น 3-minute movie หมายความว่าควรมีเรื่องราวที่ชวนติดตาม ไม่ใช่แค่ฉันรักเธอ เธอรักฉัน ชมนกชมไม้ อะไรพรรค์นั้น ถ้าเป็นเพลงรักก็ควรมีแง่มุมที่แปลกหรือพิเศษหน่อยถ้าอยากให้คนฟังจำได้

ในใจผมตอนนั้นก็มีเพลงพระราชนิพนธ์ (ซึ่งให้ความรู้สึกของลมฝนได้ดีมาก) เพลง Just When I Needed You Most ของ Randy Vanwarmer (ซึ่งให้ภาพของการทิ้งกันโดยไม่บอกเหตุผล) เพลงแนวเที่ยวชายหาดชายทะเลของดิอิมพอสสิเบิ้ล (ซึ่งเป็นที่มาของหาดสีทอง) ก็เลยจับมาผสมผสานจนกลายมาเป็นสัตว์ประหลาดตัวใหม่

ตอนนั้นแต่งแบบไม่ได้คิดอะไรมากครับ กลอนพาไปลูกเดียว

แต่พอย้อนกลับไปดู วิเคราะห์โครงสร้างมันก็เห็นว่าสิ่งที่เราแต่งขึ้นโดยสัญชาตญาณมันก็มีหลักเหมือนกัน ว่าไปแล้วคล้ายๆ three-act structure ที่ฮอลลีหวุดใช้ในการเขียนบทภาพยนตร์เลย มิน่าล่ะมันถึงติดตลาด

การแต่งเพลงเหมือนกับการทำไส้กรอกหละครับ คืออย่าไปดูตอนที่ทำ (เดี๋ยวจะกินไม่ลง) ค่อยบริโภคตอนที่เขาทำเสร็จแล้วดีกว่า จะได้อร่อยได้เต็มที่ Posted by Picasa

สมัครเป็นสมาชิก ดาวน์โหลดฟรีอีบุ๊ค "ฟอไฟฟุดฟิดอังกฤษอเมริกัน เล่ม 1"

* indicates required
boonhod@hotmail.com
Copyright (C) 2019 by Jakkrit Srivali. All rights reserved. สงวนลิขสิทธิ์ โดย จักรกฤษณ์ ศรีวลี
>
linkedin facebook pinterest youtube rss twitter instagram facebook-blank rss-blank linkedin-blank pinterest youtube twitter instagram