ผู้จัดการรายสัปดาห์ 28 เมษายน 2548

ปัจจุบัน ‘นักการทูต’ ยังเป็นหนึ่งในอาชีพใฝ่ฝันอันดับต้นๆ 

แต่โอกาสสู่ภารกิจที่สำคัญระดับชาติและมีเกียรติจะเป็นจริงได้อย่างไร? 

ของจริงกับภาพที่เคยรับรู้ต่างกันหรือไม่? 

“จักรกฤษณ์ ศรีวลี” หนึ่งในสายเลือดนักการทูต ช่วยเปิดโลกทัศน์ที่น่าสนใจ...

บทบาทหน้าที่นักการทูต คือ การรักษาและส่งเสริมผลประโยชน์ของไทยในเวทีต่างประเทศ ดูแล้วเป็นงานที่มีขอบข่ายกว้างมาก...

ในอดีตส่วนใหญ่การทูตเกี่ยวข้องกับการเมือง และมีบทบาทหลักถึงขั้นเป็นตัวตัดสินความอยู่รอดของเอกราชและอธิปไตยของประเทศชาติ

แต่ในยุคโลกาภิวัฒน์นี้ บทบาทของนักการทูตต้องปรับเปลี่ยนไปเพื่อให้ก้าวทันความซับซ้อนที่เพิ่มขึ้น และการที่นานาประเทศต้องพึ่งพาซึ่งกันและกันมากขึ้น

โดยเฉพาะอย่างยิ่งการที่ผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจมีบทบาทสำคัญขึ้นในนโยบายต่างประเทศ โดยเชื่อมโยงกับปัจจัยทางการเมืองและสังคมมากขึ้น

จักรกฤษณ์ ศรีวลี ผู้อำนวยการ กองส่งเสริมเศรษฐสัมพันธ์และความร่วมมือ กรมเศรษฐกิจระหว่างประเทศ กระทรวงการต่างประเทศ บอกเล่าถึงบทบาทหน้าที่ของนักการทูต ซึ่งเปรียบเป็น “ตัวเชื่อมโยง” ระหว่าง “ไทย” กับ “โลก”

“เราต้องรู้ว่าสิ่งที่เกิดขึ้นภายนอกประเทศและแนวโน้มต่างๆ กระทบต่อประเทศเราอย่างไร และเราควรจะเตรียมรับมือหรือตอบสนองต่อปรากฎการณ์นั้นอย่างไร ข่าวสารในโลกยุคปัจจุบันสื่อถึงกันเร็วมาก เราจึงต้องพยายามให้ตัวเองทันโลกตลอดเวลา”

นักการทูตที่ดีในยุคนี้ จึงต้องพยายามรอบรู้ทุกเรื่องให้ลึกพอที่จะจับมาปะติดปะต่อ โยงทุกอย่างให้เห็นภาพรวม รู้ว่าปรากฎการณ์ที่เกิดขึ้นแต่ละอย่างจะมากระทบต่อผลประโยชน์ของไทยได้อย่างไรบ้าง

“สมัยก่อนผลประโยชน์ของชาติดูออกง่ายกว่านี้ เพราะเป็นเรื่องของการปกป้องเอกราชอธิปไตย แต่สมัยนี้ประเด็นปัญหาที่สำคัญมากขึ้นคือเรื่องเศรษฐกิจ ซึ่งในแต่ละสังคม มีกลุ่ม มีภาค ซึ่งบางครั้งผลประโยชน์ไม่ตรงกัน”

“เช่นเราจะบอกยังไงว่าผลประโยชน์ของใครคือผลประโยชน์ของชาติมากกว่ากัน ผู้นำเข้าหรือผู้ส่งออก ผู้ผลิตหรือผู้บริโภค ภาคเกษตรหรืออุตสาหกรรม ภาคเมืองหรือภาคชนบท?”

การที่ปัจจัยทางเศรษฐกิจมีความสำคัญมากขึ้นไม่ได้หมายความว่าปัจจัยทางการเมืองและสังคมหมดความสำคัญไป

แน่นอน เมื่อประจำการในต่างประเทศ ส่วนหนึ่งของบทบาทนักการทูตไทยคือการส่งเสริมสินค้าไทย การเปิดทาง เปิดโอกาส เอื้ออำนวยความสะดวกให้นักธุรกิจไทย แต่บทบาทที่จำเป็นไม่ยิ่งหย่อนกว่ากันคือการติดตามว่าประเทศนั้นมีแนวโน้มทางการเมืองและสังคมอย่างไร ที่อาจจะกระทบต่อผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจของไทยได้

ดังนั้น การทำงานให้เป็น “ทีมไทยแลนด์” จึงสำคัญมาก กระทรวงการต่างประเทศมีหน้าที่เป็นตัวกลางหลักในการประสานกับกระทรวงและหน่วยงานต่างๆ ที่มีมิติงานด้านต่างประเทศ เพื่อให้มีท่าทีและยุทธศาสตร์ที่สอดคล้องกันในการเจรจาต่อรองผลประโยชน์กับต่างชาติ

เขาย้ำว่า งานการทูตต้องยึด “ภาพใหญ่” เป็นหลัก ต้องพยายามมองโดยรวมว่าเราจะทำยังไงที่จะใช้สิ่งที่เกิดขึ้นในโลกนี้ให้เป็นประโยชน์กับไทย และป้องกันไม่ให้ส่งผลเสียต่อไทย

การก้าวสู่เส้นทางสายนี้ มาจาก 2 ทาง ทางแรกคือเป็นนักเรียนทุนของรัฐบาล มาตามความต้องการของกระทรวงการต่างประเทศ ส่วนทางที่สองคือการสอบเข้า โดยถ้าใช้วุฒิปริญญาตรีจะเข้าเป็นซี 3 (นายเวร) ปริญญาโทเข้าเป็นซี 4 (เลขาตรี) แล้วก็ไต่เต้าต่อไปเป็นเลขาโท เลขาเอก ที่ปรึกษา อัครราชทูตที่ปรึกษา อัครราชทูต และเอกอัครราชทูตในที่สุด

เดิมมักจะเป็นผู้ที่เรียนจบด้านสังคม เช่นรัฐศาสตร์ นิติศาสตร์ เศรษฐศาสตร์ อักษรศาสตร์ แต่ภายหลังได้เปิดกว้างขึ้นให้ผู้ที่จบสาขาอื่นๆ รวมทั้งบริหารธุรกิจ มีสิทธิสมัครสอบเช่นกัน

แต่การจะผ่านเข้ามา คะแนนเรียนต้องตามเกณฑ์ เกรดดี การสอบเข้าค่อนข้างยาก ภาษาอังกฤษต้องดี ปีนี้ได้รับคัดเลือกมา 35 คน จากกว่า 2,000 คน การสอบมีหลายขั้น...ข้อเขียน สัมภาษณ์ สอบนอกสถานที่ เช่น การกล่าวสุนทรพจน์ภาษาอังกฤษโดยมีเวลาเตรียมตัว 5 นาที...เป็นการทดสอบทั้งภาษา ทั้งไหวพริบปฏิภาณ ทั้งการเรียบเรียงความคิด… ข้อสอบจะไม่เอียงไปทางวิชาใดวิชาหนึ่งโดยเฉพาะเพื่อให้ทุกคนมีโอกาสเท่ากัน แต่การทดสอบจะเปลี่ยนรูปแบบทุกปี... นี่คือคร่าวๆ

โดยที่งานของกระทรวงการต่างประเทศเน้นความเป็นผู้ที่รู้กว้างอย่างมืออาชีพ (professional generalist) จึงมีแต่สายงานด้านกฎหมายที่แยกชัดเจนเป็นผู้เชี่ยวชาญ

สำหรับเขา เป็นนักการทูตโดยสายเลือดจากคุณพ่อ ทำให้ได้โอกาสใช้ชีวิตในต่างแดน เกิดที่หนองคาย ได้ติดตามคุณพ่อไปเรียนหนังสือในโรงเรียนนานาชาติที่ประเทศเดนมาร์ก ในช่วงอายุ 7-13 ปี

กลับมาเรียนมัธยมต่อในไทยอีก 3 ปี สอบเข้าคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เมื่อปี 2519 ได้ที่หนึ่งในสายมธ. 2 เป็นนักเรียนทุนภูมิพล และคว้าปริญญาตรีเกียรตินิยมอันดับสอง ภายใน 3 ปีครึ่ง โดยทำกิจกรรมและใช้ชีวิตวัยเรียนวัยรุ่นอย่างคุ้มค่า

ได้โอกาสติดตามคุณพ่ออีกครั้ง ไปเรียนต่อปริญญาโท รัฐศาสตร์ ที่ U. of California , Los Angeles (UCLA) และต่อจากนั้นก็ได้ทุนเรียนปริญญาเอกที่ U. of Southern California ด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ

ในระหว่างเรียนก็ทำงานไปด้วย เป็นผู้ช่วยทนายความ คอลัมนิสต์ บรรณาธิการข่าวต่างประเทศของหนังสือพิมพ์ไทยในต่างประเทศ ล่ามกระทรวงต่างประเทศสหรัฐฯ ล่ามศาลสูงลอสแอนเจลีส แคลิฟอร์เนีย อยู่อเมริกายาวนานถึง 12 ปี

แต่หลังจากใช้ชีวิตสั่งสมประสบการณ์ในอเมริกานานพอควรแล้ว เมื่อปี 2535 เมื่ออายุ 32 ก็สอบเข้าตำแหน่งเลขานุการตรี กระทรวงการต่างประเทศ ด้วยคะแนนอันดับ 1

“ตอนนั้นคิดว่างานที่เราทำที่อเมริกาเป็นประโยชน์แต่กับตัวเราเองและคนที่จ้างเรา เงินดี ชีวิตสบายก็จริง แต่เรารู้สึกอยากทำอะไรที่มันใหญ่กว่าตัวเอง”

เขายังมีผลงานน่าสนใจอีกมาก เช่น งานเขียนคอลัมน์สอนภาษาอังกฤษในเดลินิวส์ แต่งเนื้อเพลงอย่าง “ฝน” ของเบิร์ดกับฮาร์ท และที่สำคัญคือการเขียนสุนทรพจน์ภาษาอังกฤษให้ระดับบิ๊กๆ ของประเทศ

“ผมว่าการได้เห็นโลกเป็นข้อได้เปรียบ เพราะจะปรับตัวได้เร็ว ได้เรียนรู้สิ่งแปลกๆ มีโลกทัศน์ที่กว้าง”

ในเรื่องคุณสมบัตินักการทูต เขาย้ำว่าไม่ควรมองว่ามีหน้าที่โกหกเพื่อชาติ เพราะนักการทูตที่ดีต้องซื่อสัตย์ต่อตัวเอง หากพูดในสิ่งที่ตัวเองไม่เชื่อแล้ว คนอื่นก็จะดูออกและจะหมดความน่าเชื่อถือ

นักการทูตควรเป็นคนช่างสังเกต อ่านคนออก อ่านประเด็นออก

ควรพร้อมเสียสละ เพราะบางทีภาพที่เห็นกันอยู่ทั่วไปหรือในละครทีวีจะเห็นว่า มีชีวิตหรูหรา ขับรถคันใหญ่คันโต

แต่ในความเป็นจริงของระบบราชการไทย เงินเดือนของนักการทูตก็ไม่ได้ต่างจากกระทรวงอื่นๆ แต่จะมีเงินพิเศษเพื่อช่วยค่าครองชีพเมื่อไปประจำต่างประเทศ หรือที่เรียกว่าออกโพสต์ เพื่อที่จะได้ทำหน้าที่เป็นตัวแทนของประเทศได้อย่างสมเกียรติ

สิ่งสำคัญที่สุด คือ “สมอง” และทัศนคติหนักเอาเบาสู้ ติดดินก็ได้ หรูหราก็ได้ แล้วแต่กาลเทศะหรือบริบท

เช่น ช่วงที่ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพในการจัดงานประชุมสุดยอดผู้นำเอเปกเมื่อปี 2546 กระทรวงการต่างประเทศเป็นฝ่ายวางแผนดูแลภาพรวม มีทั้งงานลุยทั้งงานวิชาการ...สารพัด

“ตอนนั้นผมดูแลงานด้านเศรษฐกิจอยู่ที่มาเลเซียได้ 3 ปีครึ่ง ก็ถูกเรียกกลับมาเพื่อมาช่วยเอเปก ได้รับมอบหมายให้ดูแลงานด้านสารัตถะ ซึ่งรวมทั้งสุนทรพจน์ บทความ ปฏิญญาผู้นำ ถ้อยแถลงต่างๆ บทสรุปการประชุม และแม้แต่แต่งเนื้อเพลงเอเปกภาษาอังกฤษ จากเดิมซึ่งมีแต่เนื้อไทย ก็เป็นงานที่สนุกและท้าทายดี”

งานการทูตมีเสน่ห์ ที่ได้สัมผัสคนสำคัญระดับอินเตอร์ เรียนรู้จากผู้ที่มีประสบการณ์ความสามารถสูง ได้ทำงานระดับชาติ และมีโอกาสเติบโตไปประจำการต่างประเทศได้เปิดโลกทัศน์มาก

“เห็นโลกมามาก ก็คิดว่าจะทำยังไงให้คนไทยมีความเป็นอยู่ดีกว่านี้ มีความรู้ความสามารถมากกว่านี้ ทัดเทียมกับชาติที่พัฒนาแล้ว ตอนอยู่อเมริกาเจอคนไทยบางคนบ่นว่าเมืองไทยคนไทยไม่ดียังงั้นยังงี้ ผมก็บอกเขาว่ายังงั้นก็กลับไปช่วยคนละไม้ละมือสิ ไม่ใช่มาบ่นอย่างเดียว ไม่ต้องเป็นข้าราชการก็ช่วยชาติได้ อยู่เอกชนถ้าทำหน้าที่ให้ดี มีความซื่อสัตย์ มีบรรษัทภิบาลที่ดีก็ช่วยได้”

หนึ่งในสายเลือดนักการทูตคนนี้ย้ำว่า ความสุขในการทำงานไม่ได้ขึ้นอยู่กับความยากหรือง่าย แต่ความสนุกที่ได้ทำงานท้าทาย ซึ่งหลังจากรับราชการมา 14 ปี เขาก็ยังสนุกอยู่กับภารกิจการเชื่อมไทยสู่โลกในยุคสมัยที่ท้าทายเช่นนี้

สมัครเป็นสมาชิก ดาวน์โหลดฟรีอีบุ๊ค "ฟอไฟฟุดฟิดอังกฤษอเมริกัน เล่ม 1"

* indicates required
boonhod@hotmail.com
Copyright (C) 2019 by Jakkrit Srivali. All rights reserved. สงวนลิขสิทธิ์ โดย จักรกฤษณ์ ศรีวลี
>
linkedin facebook pinterest youtube rss twitter instagram facebook-blank rss-blank linkedin-blank pinterest youtube twitter instagram