สวัสดีครับ พี่บ๊อบ ได้เห็นรูปคุณบ๊อบชัดๆ ครั้งนี้ก็ใน blog ที่ถ่ายคู่กับคุณเบิร์ต คุณฮาร์ทแล้วรู้สึกเวลาผ่านไปไวจัง รูปก่อนหน้านี้ที่เคยเห็นคือที่อยู่บนปกหนังสือเล่มแรกๆ สมัยผมอายุ 13 เป็นแฟนยุคแรกของคอลัมน์ครับ สมัยนั้นใช้นามปากกาว่า 'เด็กโง่' ตอนนี้ 31 แล้วครับ พอจบมหาวิทยาลัยก็ไม่ค่อยได้ติดตามอีกสักเท่าไหร่ เพราะมัวแต่ทำงานและต้องเดินทางออกต่างจังหวัดบ่อยๆ แต่ดีใจที่คุณบ๊อบยังเขียนคอลัมน์ให้เดลินิวส์อยู่ เพราะเมืองไทยยังต้องการคนที่รู้ภาษาอังกฤษจริงๆ อีกเยอะ โดยเฉพาะที่สามารถถ่ายทอดโดยเข้าใจบริบทของสังคมไทยและสังคมฝรั่ง คอลัมน์ของคุณไม่เพียงตอบปัญหา ให้ความรู้ และฝากข้อคิดให้สังคมไทย แต่ยังเป็นแรงบันดาลใจให้คนไทยรุ่นใหม่ๆ หันมาสนใจภาษาอังกฤษมากขึ้นอีกด้วย (เหมือนผมสมัยก่อนที่คอยตัดคอลัมน์เก็บไว้เป็นประจำ)
(1) ผมได้ยินบ่อยๆ เวลาฝรั่งพูดอะไรที่เป็นการแสดงความคิดเห็นว่า "Let's keep that in context." อันนี้ผมเดาว่า ทำนองพูดให้เข้าประเด็นใช่หรือเปล่าครับ
(2) คำถามที่สองเกิดติดใจช่วงที่ติดตาม World Cup และ Wimbledon นั่งคุยกับเพื่อนต่างชาติ เกิดสงสัยว่า คำว่า เชียร์ ภาษาไทยเราเรียกเป็นภาษาอังกฤษว่าอย่างไร เช่น "คุณเชียร์ทีมใหน" ใช้ "Which team do you (cheer / support / go for)?" ใช้คำไหนเหมาะสมครับ เพื่อนญี่ปุ่นเขาใช้คำว่า support แต่ผมว่า ใช้ go for เหมาะสมกว่า ช่วยตัดสินทีครับ
ตอนนี้กลับมาติดตามคอลัมน์ของพี่อีกครั้ง ทาง website ของ เดลินิวส์ สะดวกดีครับ เป็นกำลังใจให้เขียนต่อไปเรื่อยๆ นะครับ จะติดตามไปเรื่อยๆเหมือนกับกำลังรอเล่มหกและเล่มต่อๆไปนะครับ ติดตามมาห้าเล่มแล้วหายไปเป็นสิบปีแบบนี้ คิดถึงครับ
มนตรี
ผมเพิ่งเปิดเจออีเมลของคุณมนตรีซึ่งนั่งรออยู่ใน inbox ของ boonhod@gmail.com มา 13 ปี เพราะลืมไปว่าตัวเองเคยมีอีเมลนี้ ใช้แต่ boonhod@hotmail.com บัญชีเดียวมาตลอด
ตอนนี้กำลังทำเว็บไซท์ใหม่ก็เลยต้องการเปิดบัญชี boonhod@gmail.com ขึ้นมาใหม่เพื่อใช้ Google Analytics ถึงได้รู้ว่าอ้าว เราเคยเปิดไว้แล้วนี่หว่า หน้าแตกเลย
แต่คุณมนตรีก็ดีใจหาย พอผมตอบไปพร้อมกับสารภาพความหลงลืมก็บอกผมว่า " ขอบคุณที่ตอบกลับนะครับ ถ้านับตั้งแต่ที่ผมเขียนหาพี่ครั้งแรกเมื่อ 31 ปีที่แล้ว แค่ 13 ปีนี่ผมรอได้ครับ (ฮ่าๆๆๆ)"
คุยกับคุณมนตรีต่อก็ทำให้ผมอดน้ำตาซึมไม่ได้
"อยากบอกพี่ว่าพี่สร้างแรงบันดาลใจในการเรียนภาษาอังฤษกับผมมาก พอโตแล้วพี่ก็ยังมีความรู้อะไรใหม่ๆ สำนวนภาษาใหม่ๆ สอดแทรกเรื่องวัฒนธรรมสังคมด้วย ผมก็เหมือนโตตามคอลัมน์พี่ไปด้วยเลย... ผมก็เป็นคนหนึ่งที่ได้ดีจากการอ่านคอลัมน์พี่ จากคนที่ไม่เก่งภาษาอังกฤษ ทุกวันนี้มาเป็นอาจารย์สอนภาษาอังกฤษที่ ม. เกษตร"
ครับ รางวัลตอบแทนที่ดีที่สุดจากการเขียนคอลัมน์นี้ไม่ใช่ค่าเขียนตอนละ 400 บาท ไม่ใช่ชื่อเสียงลือลั่นที่กระฉอก เอ๊ย กระฉ่อนไปทั่วบรรณภพ (555) แต่การได้รู้ว่าผมได้เปลี่ยนชีวิตผู้อ่านไปในทางที่ดี (ท่านที่ติดตามอ่านคอลัมน์ผมแล้วเลือกเดินเส้นทางแห่งอธรรมไม่ต้องเขียนมาบอกผมนะครับ)
เอาหละครับ เช็ดน้ำตาเสร็จแล้วขอเข้าเรื่องตอบปัญหาภาษาอังกฤษนะครับ
(1) Let's keep that in context. ไม่ได้หมายความว่าให้พูดให้เข้าประเด็นนะครับ
จุดสำคัญของประโยคนี้อยู่ที่คำว่า context = บริบท หรือเงื่อนไขแวดล้อม
คำพูดหรือการกระทำที่ดูน่าประหลาดใจเหมือนไม่มีเหตุผลหรือตรรกะ บ่อยครั้งเมื่อเราเข้าใจบริบทของมันแล้วก็จะร้องอ๋อ เพราะเป็นเช่นนั้นเอง
เช่นสมมุติว่าระหว่างรับประทานอาหาร ลูกก็เอ่ยปากขึ้นมาว่า I really like Grandma. พ่อก็ตอบว่า Good. Would you like some more?
ถ้าบริบทเป็นการสนทนาธรรมดาระหว่างพ่อลูก ก็เข้าใจได้ว่าลูกคงประทับใจกับคุณย่า (หรือคุณยาย) อะไรสักอย่าง จู่ๆ จึงพูดโพล่งขึ้นมาว่า หนูชอบคุณย่า (หรือคุณยาย) คุณพ่อก็ตอบว่า ดีแล้วลูก จะเติมอีกไหม คนอ่านก็จะนึกภาพคุณพ่อเตรียมตักอาหารให้
แต่ถ้าสมมุติว่าเปลี่ยนบริบทเป็นสังคมมนุษย์กินคนที่นิยมกินสมาชิกครอบครัวผู้ล่วงลับ ความหมายที่ผู้อ่านจับความได้จากบทสนทนาบทเดียวกันนี้ก็จะเปลี่ยนไปโดยสิ้นเชิง
เวลาเราพยายามหาความหมายหรือข้อสรุปจากสถานการณ์หรือคำพูดใดๆ การพิจารณาบริบทเป็นสิ่งสำคัญมากในการกำหนดว่าเราจะเข้ารกเข้าพงหรือมองทะลุปรุโปร่ง
อีกตัวอย่างหนึ่งที่กำลังสดๆ ร้อนๆ ก็คือการประท้วงในฮ่องกง ถ้าคุณมองบริบทว่าเป็นเรื่องของจีนกับเมืองที่อยู่ภายใต้การควบคุมตัวเองคุณก็จะได้ข้อสรุปแบบหนึ่ง
แต่ถ้าคุณมองบริบทให้กว้างกว่านั้นว่าฮ่องกงมีธรรมเนียมประเพณีที่เชิดชูเสรีภาพมาเป็นเวลานานและต้องการให้จีนเคารพสิทธิในการปกครองตนเองตามหลัก "หนึ่งประเทศ สองระบบ" ที่เคยตกลงกันไว้และยังมีผลอยู่ คุณก็จะได้ข้อสรุปอีกแบบ
ดังนั้นเวลามีคนบอกคุณว่า Let's keep that in context. ก็หมายความว่า เราอย่าลืมมองบริบทของเรื่องนั้นด้วย
บางทีการ take things out of context เช่นการหยิบยกคำพูดของใครบางคนมาอ้างถึงลอยๆ โดยถอดออกจากบริบท ก็เป็นเทคนิคหนึ่งในการบิดเบือนความหมายแท้จริงเพื่อประโยชน์ของตนเอง
เช่นสมมุติว่ามีนักวิจารณ์เขียนถึงหนังที่คุณอำนวยการสร้างว่า This movie stinks to high heaven. Ten minutes in, I was rolling on the floor gagging. This movie will leave you breathless. = หนังเรื่องนี้ห่วยแตกสิ้นดี ดูได้แค่สิบนาทีผมก็ลงไปกลิ้งบนพื้นจะอ้วกให้ได้ หนังเรื่องนี้จะทำให้คุณหายใจไม่ออก
ถ้าคุณไม่ละอายต่อบาป พร้อมที่จะ take a quote out of context เพื่อโปรโมทหนังของคุณ คุณก็อาจคัดเฉพาะบางส่วนของคำวิจารณ์มาลงในโปสเตอร์โฆษณาว่า "This movie will leave you breathless!" หมายความว่าหนังเรื่องนี้จะทำให้คุณหายใจไม่ทั่วท้อง (ด้วยความตื่นเต้น)
ในยุคสมัยแห่ง fake news = ข่าวเก๊ นี้ การคำนึงถึงบริบทของทุกอย่างอาจช่วยให้คุณรอดพ้นจากการตกเป็นเหยื่อนักหลอกลวงได้ครับ
Session expired
Please log in again. The login page will open in a new tab. After logging in you can close it and return to this page.