3 มกราคม 2549
ทุกปี Lake Superior State University จะประกาศรายการศัพท์สำนวนที่ถูก banished = เนรเทศ ออกจากภาษาเพราะในปีที่ผ่านมาคนอเมริกันใช้กันพร่ำเพรื่อจนเอียน
ปีนี้คำแรกที่ถูกประกาศ “ต้องห้าม” คือ surreal ซึ่งปกติแปลว่า พิสดาร เหมือนกับในฝันหรือในสภาพจิตหลอน เช่น I remember the accident happening in a surreal kind of slow motion. = ฉันจำอุบัติเหตุเกิดขึ้นได้ราวกับว่าเป็นภาพเคลื่อนไหวช้าๆ เหมือนในฝัน
แต่ปัจจุบันผู้ประกาศข่าวทีวีที่อเมริกานิยมใช้ surreal กับอะไรก็ได้โดยไม่ค่อยสนใจว่ามันมีคุณสมบัติเหมือนฝันหรือจิตหลอนจริงหรือเปล่า เช่น Those fireworks are surreal. อาจจะแปลแค่ว่า พลุเหล่านั้นสวยจริงๆ
รายที่สองที่โดน LSSU แบนคือ hunker down ซึ่งเป็นสำนวนที่มีความหมายชัดเจน คือ ตั้งหลักเตรียมรับ (สิ่งร้ายแรงที่กำลังจะมาถึง) เช่น They hunkered down for the approaching tornado. = พวกเขาเตรียมเผชิญกับพายุหมุนที่กำลังจะมาถึง
แต่โดยที่ปี 2548 มีอะไรร้ายๆ ที่เกิดขึ้นหลายอย่าง hunker down ก็เลยกลายเป็นสำนวนที่นิยมจนเฝือไป ใช้ในทุกบริบท ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการเมืองหรือภัยธรรมชาติ ซึ่งว่าไปแล้วก็อาจน่ากลัวพอๆ กันสำหรับบางคน
อีกสำนวนคือ person of interest ซึ่งดูเหมือนน่าจะแปลว่าคนที่น่าสนใจ แต่ที่ไหนได้ กลับเป็นสำนวนที่มักจะเจอในความหมาย “ผู้ต้องสงสัย” คืออาจยังไม่มีหลักฐาน ไม่รู้ว่าจะเอาตัวมาเป็นจำเลยหรือเป็นพยานดี ดังนั้นเรียกกว้างๆ ไว้ก่อนแล้วกันว่าเป็น person of interest = คนที่เป็นที่สนใจ
อีกสำนวนที่ LSSU ประกาศว่านิยมใช้กันเหลือเกินทั้งๆ ที่ไม่ได้เพิ่มคุณค่าอะไรให้กับภาษาเลย คือ community of learners = ชุมชนแห่งผู้เรียนรู้
ถ้าเป็นสมัยก่อนศัพท์ที่จะใช้ในความหมายนี้ก็มีอย่าง โรงเรียน หรือ วิทยาลัย หรือ มหาวิทยาลัย แต่นั่นอาจจะฟังธรรมดาเกินไป
ดังนั้นถ้าเรียกว่า community of learners ก็จะได้เพิ่มสีสัน ดูเริดหรู สอดคล้องกับแฟชั่นยุคสมัยโลกาภิวัตน์ที่นิยมคำอย่าง community และ learn (เพราะทั้งสองอย่างเริ่มหายากขึ้นเรื่อยๆ ในชีวิตจริง)
Breaking news ก็เป็นอีกสำนวนที่มีคนบ่นว่าใช้กันพร่ำเพรื่อไม่ว่าข่าวนั้นจะเป็น breaking news จริงหรือเปล่า
คือสมัยก่อน breaking news จะหมายถึง ข่าวด่วนสดๆ ร้อนๆ ที่สำคัญจนต้องขัดจังหวะรายการปกติเพื่อรายงานท่านผู้ชมทางบ้าน
แต่สมัยนี้ข่าวที่ไม่ได้กระทบชีวิตคนทั่วไป เช่นดาราท้องนอกสมรส ก็คั่นรายการปกติแล้ว (ครับ ฝรั่งก็สนใจชีวิตส่วนตัวดาราเหมือนกันทั้งๆ ที่ตัวเองไม่ได้เป็นแม้แต่ญาติห่างๆ)
อีกสำนวนที่สร้างความรำคาญให้กับผู้ติดตามการจัดอันดับของ LSSU คือ first-time caller = ผู้โทร (เข้ารายการ) ครั้งแรก
คนที่ไม่ได้ติดตามรายการนั้นก็จะรู้สึกว่า ถามจริงๆ เถอะ Who gives a ****? = มีใครสนใจมั่ง ว่าคนที่โทรเข้ารายการวิทยุนั้นเป็นการโทรครั้งแรกหรือเป็นขาประจำ
(Who gives a ****? เป็นสำนวนหยาบนะครับ อย่าไปใช้เข้าเชียว แต่ถ้าจำเป็นต้องใช้จริงๆ จะใช้คำหยาบสี่อักษรตัวไหนก็ได้แทน ****)
อีกสำนวนที่ LSSU เห็นว่าควรต้องห้ามคือ designer breed
โลกรู้จัก designer jeans = ยีนส์ที่ออกแบบโดยดีไซเนอร์ชื่อดัง ไม่ใช่ยีนส์ยี่ห้อโหลทั่วไป กับ designer drugs = ยาเสพติดที่ออกแบบขึ้นมาพิเศษ คือไม่ใช่แบบที่มีจำหน่ายทั่วไป
ทีนี้ก็มีคนหัวใสโฆษณาขายลูกสุนัขพันธุ์ผสมที่อ้างว่าเป็น designer breed = พันธุ์ที่ออกแบบขึ้นมาพิเศษ มีชื่อแปลกๆ อย่าง schnoodle (ผสมระหว่าง miniature schnauzer กับ toy poodle) pekipoo (ผสมระหว่างปักกิ่งกับพูดเดิ้ล) ฯลฯ
ก็มีฝรั่งที่มีเงินมากกว่าสมองยอมจ่ายเงินเป็นพันๆ เหรียญซื้อสุนัขเหล่านี้ เพราะนึกว่าเป็นแฟชั่นเก๋ไก๋ใหม่ล่าสุด แต่หารู้ไม่ว่าที่แท้สุนัข designer breed ที่ตัวเองโดนหลอกซื้อนั้น สมัยก่อนเรียกง่ายๆ ว่า mongrel หรือ mutt = สุนัขพันธุ์ผสม ดีๆ นั่นเอง
บางคนพอรู้ว่าสุนัขของตัวเองไม่มีชาติตระกูลสูงส่งพอที่จะเข้าประกวดได้ เพราะเป็นพันธุ์ที่ American Kennel Club ไม่ยอมรับ ก็เอามันไปปล่อย animal shelter = สถานที่พึ่งพิงของสัตว์ (ซึ่งความจริงก็คือสถานที่กักกันสัตว์จนกว่าจะมีคนมารับไปเลี้ยงหรือถ้าไม่มีใครรับไปเลี้ยงก็วางยาให้มันตาย) โดยไม่คิดว่าไม่ว่าพันธุ์ไหนก็มีชีวิตจิตใจมีความรักพร้อมจะให้เจ้าของเหมือนกัน
อีกสำนวนจากวงการการตลาดที่มีคนเห็นว่าควรต้องห้ามคือ 97% fat free = 97% ไร้ไขมัน (หรือจะกี่เปอร์เซนต์ก็แล้วแต่) เพราะเห็นว่าจริงๆ แล้วไม่ใช่ fat free = ไร้ไขมัน ยังไงก็ยังมีไขมัน 3 เปอร์เซ็นต์ เขียนว่า low-fat หรือ 3% fat น่าจะซื่อสัตย์กับผู้บริโภคมากกว่า
คุณผู้อ่านบางท่านอาจจำได้ว่าผมเคยเล่าให้ฟังว่า dawg (ซึ่งเป็นวิธีสะกดที่แผลงมาจาก dog) เป็นศัพท์สแลงวัยรุ่นผิวดำแปลว่า เพื่อนซี้ เกลอ
โดยทั่วไปสแลงพี่มืดมักจะค่อยๆ แทรกซึมเข้าไปในภาษาอเมริกันทั่วไปอยู่แล้ว ดังนั้นจึงไม่น่าแปลกใจที่คำว่า dawg ในความหมายนี้กลายเป็นคำที่มีคนโวยวายว่าใช้พร่ำเพรื่อและทำให้สับสนว่าคนที่ถูกเรียกเป็นคนหรือหมากันแน่
อีกสำนวนที่ถูกประณามคือ an accident that didn’t have to happen = อุบัติเหตุที่ไม่จำเป็นต้องเกิดขึ้น ซึ่งมีคนก่นด่าว่าถ้างั้นก็หมายความว่าอุบัติเหตุบางกรณีจำเป็นต้องเกิดขึ้นสิ
คุณผู้อ่านบางท่านอาจจำได้อีกเหมือนกันว่าผมเคยเขียนเกี่ยวกับสำนวน an accident waiting to happen = อุบัติเหตุที่รอจะเกิดขึ้น ซึ่งหมายถึงสภาพของบางอย่างที่ทำให้มีแนวโน้มสูงว่าจะเกิดอุบัติเหตุไม่ช้าก็เร็ว เช่นรถบรรทุกซุงซึ่งใช้โซ่เสื่อมสภาพรัดซุงแล้วไปวิ่งบนฟรีเวย์แบบในหนังเรื่อง Final Destination 2 (เป็นฉากอุบัติเหตุท้องถนนที่ทำได้สยองสมจริงมาก)
นอกจาก accident แล้วอาจใช้คำอื่นที่ร้ายๆ ทำนองเดียวกันได้ เช่น The overloaded ferry was a tragedy (หรือ disaster) waiting to happen. = เรือข้ามฟากซึ่งบรรทุกคนเกินพิกัดลำนั้นเป็นโศกนาฏกรรม (หรือหายนะภัย) ที่รอจะเกิดขึ้น
ส่วน an accident that didn’t have to happen เป็นสำนวนที่คิดขึ้นโดยคนที่ไม่มีทักษะทางความคิด ดังนั้นรู้ไว้แต่อย่าเอาไปใช้นะครับ
อีกสำนวนหนึ่งที่มีคนเรียกร้องให้ทุ่มลงถังขยะคือ junk science
เรื่อง junk นี่ผมเคยเขียนมาตั้งแต่ยุคแรกๆ ของคอลัมน์ (หาอ่านได้ในฟอไฟฯ เล่ม 1 ครับ) โดยเฉพาะอย่างยิ่ง junk food ซึ่งกำลังทำให้ทั่วโลกอ้วนเผละตามคนอเมริกัน แล้วก็ยังมี junk bonds ซึ่งหมายถึงพันธบัตรราคาถูก ความเสี่ยงสูง ซึ่งเคยเป็นที่นิยมในสหรัฐฯ อยู่พักหนึ่ง
พูดง่ายๆ junk ก็คือของที่ไม่มีค่า junk science ก็หมายความว่าวิทยาศาสตร์ที่ไม่มีค่า หรือ วิทยาศาสตร์ขยะ
คุณผู้อ่านอาจจะงงว่าหมายถึงอะไร วิทยาศาสตร์ทุกอย่างมันก็มีค่าทั้งนั้นนี่ ไม่ว่าจะได้ผลหรือไม่ได้ผล เพราะกระบวนวิธีวิทยาศาสตร์มันมีการตรวจสอบ มีขั้นตอนพิสูจน์ความจริงที่วิวัฒนาการมาหลายชั่วคน
junk science หมายถึงวิทยาศาสตร์ที่ไม่เป็นวิทยาศาสตร์ แต่เป็นไปเพื่อวาระซ่อนเร้นทางการเมืองหรืออย่างอื่น เป็นสำนวนที่ใช้ด่าฝ่ายตรงข้ามเมื่อเขาอ้างข้อมูล ผลงานวิจัย ฯลฯ
เช่นในเรื่อง global warming = การอุ่นตัวของโลก มีนักวิทยาศาสตร์ส่วนน้อย (แต่นักอุตสาหกรรมส่วนใหญ่) เห็นว่าเป็นทฤษฎีที่ยังไม่ได้รับการพิสูจน์ ไม่ควรให้ความเชื่อถือ และทั้งสองฝ่ายก็ต่างด่าอีกฝ่ายว่าเป็น junk science
ส่วนเศรษฐศาสตร์ที่ผิดเพี้ยนไปตามแรงการเมืองกลับไม่เรียกว่า junk economics ครับ แต่มักเรียกตามชื่อนักการเมืองที่ผลักดันมัน เช่น Reaganomics เป็นต้น
ศัพท์สำนวน “ต้องห้าม” ที่เราคุยกันบางตัวถึงคนอเมริกันจะมองว่าใช้กันเฝือแต่คนไทยหลายคนอาจไม่รู้จักด้วยซ้ำไป
อย่าง git ’er done นี่ไงครับ เป็นสำนวนที่ปรากฏอยู่ทั่วไปในอเมริกา มีทั้งในทีวีถึงเสื้อยืด เป็นสำนวนที่คนเมานิยมตะโกนแซวพวกตลกใน comedy clubs = คลับตลก (เมืองไทยมีตลกคาเฟ่ อเมริกามี comedy clubs) แล้วคุณเดาออกไหมว่าหมายถึงอะไร
ถ้าดูจากบริบทของการใช้ก็จะดูเหมือนว่าเป็นประโยคสารพัดประโยชน์ ใช้ในสถานการณ์ไหนก็ได้ แต่ความจริงมันคือ get her done ซึ่งถ้าจะให้ถูกต้องคือ get it done = ทำมันให้เสร็จ
แล้วทำไมใช้ her แทน it? หรือว่าเป็นแบบที่ฝรั่งเรียกยานพาหนะตั้งแต่รถ เรือยันไปถึงยานอวกาศว่า she แทนที่จะเรียกว่า it?
สำนวนนี้เป็นที่นิยมจากตัวละครทีวี Larry the Cable Guy ซึ่งเป็นฝรั่งประเภทที่เรียกว่า redneck ซึ่งถ้าจะแปลหลวมๆ ว่า ไอ้บ้านนอก ก็อาจจะได้ แต่จะเก็บความหมายได้ไม่หมด เพราะคนไทยต่างจังหวัดมักจะน่ารัก แต่ rednecks จะไม่ค่อยน่ารัก เพราะนอกจากจะด้อยการศึกษาแล้ว ยังมีโลกทัศน์คับแคบ ใจคับแคบ อีกด้วย ถ้าในหนังก็เป็นพวกที่ขับรถกระบะเก่าๆ พลางซดเบียร์ ชอบเอะอะโวยวาย ฯลฯ
ความจริงยังมีคำอื่นอีกที่ LSSU “เนรเทศ” จากภาษาอังกฤษ เช่น holiday tree ซึ่งแสดงถึงความเข้มของกระแส PC (political correctness ในสหรัฐฯ) ที่ต้องการให้ทุกอย่างปลอดค่านิยม รวมถึงเทศกาลคริสต์มาสด้วย ถึงกับเสนอให้เรียก Christmas tree ว่า holiday tree แทน แต่ขอจบแค่นี้แล้วกันนะครับ
Session expired
Please log in again. The login page will open in a new tab. After logging in you can close it and return to this page.