วิจารณ์หนัง Anna and the King

เมื่อ 25 ธันวาคม 2542 ผมมีโอกาสได้ไปดูหนังเรื่อง Anna and the King ที่โรงภาพยนตร์ในกรุงกัวลาลัมเปอร์

ก็อย่างที่ทราบกันนะครับ หนังเรื่องนี้ตอนแรกว่าจะมาถ่ายทำในเมืองไทยแต่แล้วในที่สุดก็ต้องเปลี่ยนแผนไปถ่ายที่มาเลเซีย เพราะบทภาพยนตร์ไม่ได้รับความเห็นชอบจากทางการฝ่ายไทย

ตอนแรกผมก็คิดว่าน่าเสียดายจังเลยที่เราปล่อยให้โอกาสนี้หลุดมือไป เพราะหากถ่ายทำในเมืองไทยเราก็จะได้สามารถกำกับความถูกต้องได้ ไม่ว่าจะเป็นในแง่ประวัติศาสตร์ ขนบธรรมเนียมประเพณี ฯลฯ มีอะไรก็ผ่อนหนักให้เป็นเบาได้

แต่พอผมดูแล้วก็เข้าใจว่าทำไมบทภาพยนตร์ถึงไม่ผ่าน และก็เข้าใจว่าทำไมทางการถึงปล่อยให้ผ่านไม่ได้

แต่ในขณะเดียวกันผมก็เข้าใจด้วยว่าทำไมทางผู้เขียนบทไม่ยอมปรับบทให้เป็นที่ยอมรับของฝ่ายไทยได้

เหตุผลก็คือเป้าหมายและผลประโยชน์ของแต่ละฝ่ายต่างกันตั้งแต่แรกแล้ว ทางฝ่ายไทยมุ่งปกป้องสถาบันพระมหากษัตริย์เป็นอันดับแรก ส่วนทางฝ่ายกองถ่ายมีวัตถุประสงค์ที่จะสร้างผลงานบันเทิง และหากรายละเอียดจะไม่ตรงตามประวัติศาสตร์ทุกอย่าง เขาก็คงไม่ถึงกับกินไม่ได้นอนไม่หลับ

ที่สำคัญ หน้าที่ของฝรั่งคือการสร้าง drama และใน drama ใด ๆ ไม่ว่าจะเป็นนิยาย ละคร หรือภาพยนตร์ จะต้องมีความขัดแย้ง จึงจะสามารถดึงดูดความสนใจของผู้อ่านหรือผู้ชมได้

สูตรสำเร็จอย่างหนึ่งที่นิยมใช้ในบทภาพยนตร์ฮอลลีหวุดคือทำให้พระเอกนางเอกไม่ชอบหน้ากันในตอนแรก แต่ต้องเผชิญสถานการณ์ต่าง ๆ ร่วมกันซึ่งทำให้เห็นข้อดีของอีกฝ่าย จนในที่สุดก็เห็นอกเห็นใจ กลายเป็นรักกันในที่สุด

ในกรณีของ Anna and the King ความขัดแย้งย่อมต้องเป็นระหว่างตัวเอกทั้งสอง ซึ่งเป็นตัวแทนของความคิดตะวันตกกับความคิดตะวันออก ทั้งสองเป็นเพียงตัวละครซึ่งผู้สร้างชักใยให้เป็นไปตามสูตร romantic comedy/drama

ดังนั้นในบทภาพยนตร์จึงมีอยู่หลายตอนที่ Anna วิพากษ์วิจารณ์ในหลวง ร. 4 และเมืองไทยอย่างเสีย ๆ หาย ๆ และทำอะไรหลายอย่างที่ไม่บังควร ซึ่งถ้ามองจากสายตาฝรั่งก็เป็นเรื่องธรรมดา เพราะฝรั่งไม่ได้ให้ความเคารพต่อสถาบันพระมหากษัตริย์เหมือนคนไทย แต่ถ้ามองจากสายตาคนไทยอย่างผม ก็รู้สึกว่ามันเกินเลยไปหน่อย ดูไปสะดุ้งไป

นอกจากนั้นยังมีการล้อเลียนประเพณีไทย เช่นการไม่ให้ศีรษะสูงเกินผู้ใหญ่ การหมอบกราบ การคลานเข่า ฯลฯ ซึ่งถ้ามองจากสายตาฝรั่งแล้วจะดูตลก เหมือนกับว่าเป็นการ abase (= ลดต่ำ) ตัวเองเกินเหตุ

แต่ถ้าเราสังเกตให้ดีก็จะเห็นว่าบทเขียนให้ตัวละคร Anna เป็นผู้หญิงที่แข็งจากการที่ต้องสู้ชีวิตเลี้ยงลูกด้วยตัวเองหลังจากที่สามีตาย ถึงแม้ว่าเธอจะไม่มีมารยาทแต่ก็มีความจริงใจ คิดอย่างไรก็พูดอย่างนั้น เราอาจจะไม่ชอบเธอ แต่เราปฏิเสธไม่ได้ว่าเธอมีทั้งความคิดมีทั้งกึ๋น และยิ่งให้ Jodie Foster ซึ่งชอบเล่นบทหญิงแกร่งมาสวมบท Anna ด้วยก็ยิ่งไปกันใหญ่ แต่ในที่สุดการใช้ชีวิตในเมืองไทยก็หล่อหลอมให้เธออ่อนโยนขึ้น และรักเมืองไทยถึงกับปะทะคารมกับทูตอังกฤษ เพื่อนร่วมชาติที่มองว่าเมืองไทยเป็นเพียงหมากตัวหนึ่งในเกมมหาอำนาจ

ส่วนบท ร. 4 หรือ King Mongkut ในหนังเรื่องนี้เป็นกษัตริย์ที่ชาญฉลาด มีเมตตาธรรมสูง ใจเปิดกว้าง มีความเที่ยงธรรม และมีอารมณ์ขัน เป็น enlightened monarch อย่างแท้จริง ต้องยอมรับว่าโจวเหวินฟะแสดงได้ดีเกินคาด ต่างจากที่ Yul Brynner แสดงในหนังเพลงเรื่อง The King and I ราวฟ้ากับดิน

ถ้าผมเป็นฝรั่งแล้วดูหนังเรื่องนี้ ผมคงจะรู้สึกทึ่งกับ ร. 4 ทีเดียวแหละ ที่ทรงมีวิสัยทัศน์กว้างไกล สามารถประคับประคองประเทศให้รอดพ้นจากภัยอาณานิคมได้สำเร็จ แต่ผมคงไม่เชื่อหรอกว่า Anna มีคุณูปการต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ไทยถึงขนาดช่วยราชวงศ์จักรีให้พ้นภัยกบฏ (ซึ่งไม่เข้ากับอารมณ์ของเรื่อง ขัดสายตาคนดูอย่างมาก หรืออาจจะเห็นว่าพระเอกเป็นดาราแอ็คชั่น กลัวแฟน ๆ จะผิดหวัง ก็เลยทำให้มีความขัดแย้งที่ต้องตัดสินด้วยฉากแอ็คชั่น)

เมื่อมองโดยรวมแล้ว ถึงผู้สร้างจะพยายามให้มีความขัดแย้งแค่ไหน ก็คงต้องยอมรับว่าพล็อตเรื่องค่อนข้างจะไม่มีอะไร ออกจะยืดยาด (ความยาวสองชั่วโมงครึ่ง) ผู้สร้างจึงต้องหาทางเพิ่มองค์ประกอบของความขัดแย้งอื่น ๆ เข้าไปโดยเกินพอดี

จุดเด่นของหนังคือการถ่ายทำและฉาก (ถึงแม้ว่าจะให้กรุงเทพฯ มีภูเขาก็ตาม) ทำได้สวยมาก ฉากวัดพระแก้วถ้าไม่บอกก็แทบจะไม่รู้ว่าเป็นฉากที่สร้างขึ้นมาใหม่หมด แสดงถึงความพิถีพิถันเอาใจใส่ในรายละเอียดอย่างน่าชมเชย

แต่จุดใน Anna and the King ที่ทำให้ผมเสียดายที่มันไม่ได้ถ่ายทำในเมืองไทย คือการที่บทหลายตอนเป็นภาษาไทย แต่ผู้แสดงไม่มีคนไทยสักคนเลย ดังนั้นภาษาไทยที่ออกมาจากปากนักแสดงชาวจีนและมาเลเซียเหล่านั้นจึงฟังแทบไม่ออกว่าเป็นภาษาไทย ต้องอ่านคำบรรยายภาษาอังกฤษถึงเดาออกว่าเขาพูด “ภาษาไทย” ว่าอะไร

แต่สรุปแล้ว ในความเห็นของผม ไม่ว่าเรื่องราวของ Anna Leonowens จะมีการนำมาสร้างใหม่บ่อยแค่ไหน แต่ด้วยเหตุผลหลักซึ่งเปลี่ยนไม่ได้ คือต้องมีความขัดแย้งระหว่างตัวละครหลัก และต้องยกบทบาทของ Anna ให้สำคัญกว่าที่เป็นจริง คงเป็นไปได้ยากที่หนัง (หรือนิยาย) เรื่องนี้จะได้รับอนุญาตให้เผยแพร่ในประเทศไทย

สมัครเป็นสมาชิก ดาวน์โหลดฟรีอีบุ๊ค "ฟอไฟฟุดฟิดอังกฤษอเมริกัน เล่ม 1"

* indicates required
boonhod@hotmail.com
Copyright (C) 2019 by Jakkrit Srivali. All rights reserved. สงวนลิขสิทธิ์ โดย จักรกฤษณ์ ศรีวลี
>
linkedin facebook pinterest youtube rss twitter instagram facebook-blank rss-blank linkedin-blank pinterest youtube twitter instagram