เคล็ดจำศัพท์

15 พฤศจิกายน 2548

คุณแสงทวีฯ อีเมลมาถามว่า คือผมก้อเคยอ่าน column ของพี่อ่ะครับ แต่ผมมีเรื่องอยากถามพี่อ่ะคับ คือว่า 1. ตอนนี้ผมอ่อนภาษาอังกฤษมากอ่ะคับ จะมีวิธีไหนที่ทำให้ผมเรียนดีขึ้นอ่ะคับ ผมรู้ศัพท์น้อยมากๆ  ทำยังไงก้อจำไม่ได้  พี่ช่วยแนะนำหน่อยนะคับ ช่วยตอบมาทาง mail ด้วยนะคับ ขอบคุณล่วงหน้าคับ”

เอ่อ จะเอาดีทีละภาษาโดยเริ่มจากภาษาไทยก่อนก็ได้นะครับ

วิธีที่จะให้รู้ศัพท์เยอะๆ ไม่ว่าในภาษาไหนๆ ก็แล้วแต่ เป็นเรื่องของการฝึกความจำครับ

แน่นอนครับ สมัยนี้การท่องจำเป็นนกแก้วนกขุนทอง แบบที่เรียกว่า rote learning นั้น ตกอันดับความนิยมไปแล้ว แต่ความจริงก็คือว่าสำหรับการเรียนบางอย่าง การท่องจำยังคงจำเป็นอยู่

เคล็ดลับในการท่องจำมีตำราเขียนไว้เยอะแยะเลยนะครับ หนังสือโดยผู้เชี่ยวชาญเรื่องการฝึกความจำอย่าง Harry Lorrayne (The Five-Minute Memory Book) หรือ Tony Buzan (Use Your Memory) บอกสารพัดวิธีที่จะช่วยให้คุณมีความจำเป็นเลิศ

แต่วิธีเหล่านั้นมีอะไรบ้างผมก็จำไม่ได้แล้ว

ล้อเล่นน่ะครับ การฝึกความจำคือการโยงสิ่งใหม่ๆ ให้เข้ากับสิ่งที่เรารู้อยู่แล้ว พยายามนึกมันให้เป็นภาพที่พิลึกกึกกือ (จะได้ลืมยาก) แล้วทบทวนสม่ำเสมอจนกลายเป็นส่วนหนึ่งของตัวเรา

สมมุติว่าคุณเจอศัพท์ใหม่ (สมมุติว่าเป็น carnivorous, erudition, trite ก็แล้วกัน) คุณก็เปิดดิกดูความหมาย แต่ไม่กี่ชั่วโมงก็ลืมเกลี้ยงแล้ว

หลักสำคัญในการจำมีอยู่สามอย่างครับ คือ 1) การโยงกับสิ่งที่เรารู้อยู่แล้ว 2) การนึกภาพให้ชัด และ 3) การทบทวน

ทีนี้สมมุติว่าคุณเจอศัพท์ใหม่ 3 ตัว คือ carnivorous, erudition, trite คุณจะจำมันหมดได้อย่างไร

เอาคำแรกก่อนนะครับ คุณเปิดดิกพบว่ามันแปลว่า นิยมกินเนื้อ โอเค ก็ดีอยู่หรอก แต่ไม่ค่อยช่วยในการจำเท่าไหร่เลย

ดังนั้นผมมักจะแนะนำให้ใช้ดิกอังกฤษ-อังกฤษ โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่มีรากศัพท์ด้วย เพราะเขาจะอธิบายละเอียดกว่า ซึ่งจะช่วยให้คุณจำได้ดีกว่า และในกรณีนี้เขาก็อธิบายว่ามันมาจากภาษาลาติน carnivorus ซึ่งมาจาก carn- ที่แปลว่า เนื้อ

ถ้าคุณเป็นคนชอบอ่านก็อาจจะนึกขึ้นได้ว่ายังมีศัพท์อื่นที่มีรากศัพท์คล้ายๆ กัน เช่น chili con carne ซึ่งเป็นอาหารที่มีองค์ประกอบสำคัญคือพริกกับเนื้อวัว หรือ reincarnation ที่แปลว่ากลับชาติมาเกิดก็มีรากศัพท์ carn- เหมือนกัน คือกลับมามีกายเนื้ออีกครั้ง

แต่ถ้าคุณไม่ใช่คนชอบอ่าน ไม่มีศัพท์ไหนในความทรงจำที่สามารถจะเชื่อมโยงกับตัวใหม่ที่คุณพบได้ ก็อาจจะต้องใช้วิธีโกงเล็กน้อย นั่นคือนึกภาพขาหมูชิ้นเบ้อเริ่ม แล้วบอกตัวเองว่า “ขานี้” หมายถึงอะไรที่เกี่ยวกับเนื้อ

ส่วน -vorous ก็อาจโยงกับคำเช่น devour = กินอย่างดุเดือด เขมือบ หรือเทียบกับคำเช่น omnivorous = นิยมกินทุกอย่าง herbivorous = นิยมกินพืช หรือถ้าไม่มีคำโยงก็ต้องหาวิธีโกงตัวเองมาใช้อีก

แต่ถ้ามันโยงไม่ได้ โกงไม่ได้ล่ะ?

ก็ไม่เป็นไรครับ โยงกับศัพท์ภาษาอังกฤษไม่ได้ก็โยงเข้ากับศัพท์ภาษาไทยไปซะเลย

แต่วิธีที่ได้ผลดีกว่านั้น (อย่างน้อยสำหรับผมเอง) คือการคิดหาตัวอย่างการใช้คำใหม่ๆ เหล่านั้นทันทีที่เราได้ทราบความหมายของมัน

เช่น carnivorous เราเปิดดิกดูพบว่ามันแปลว่า นิยมกินเนื้อ เราก็อาจนึกถึงสัตว์ที่ชอบกินเนื้อ อย่างเสือ ไดโนเสาร์พันธุ์ T-Rex จระเข้ ฯลฯ และถ้าจะยิ่งให้ดีก็วาดรูปลงกระดาษเลย มีคำว่า carnivorous เขียนตัวโตๆ อยู่ตรงกลางหน้ากระดาษ แล้ววาดเส้นโยงรูปสิงสาราสัตว์ที่นิยมกินเนื้อทั้งหลาย ซึ่งเราวาดให้อยู่ล้อมรอบคำนั้น

รูปวาดของสัตว์ก็ควรวาดให้มันเตือนใจเราเกี่ยวกับการกินเนื้อ ไม่ใช่วาดสัตว์น่ารักแบบการ์ตูน Lion King เช่นอาจวาดสิงโตให้ปากมันกำลังเคี้ยวแฮมเบอร์เกอร์ตุ้ยๆ อยู่ แบบนี้มีสิทธิ์จำได้แน่ (นี่คือการนึกภาพให้ชัด)

กระดาษแผ่นนั้นเราเอาแปะไว้ตรงไหนที่เรามักจะพักสายตาบ่อยๆ เช่นบนเพดานเหนือเตียงนอน ในห้องน้ำ หรือห้องแต่งตัว ถ้าเป็นหนึ่งแผ่นต่อหนึ่งคำ จะได้สับแผ่นทดสอบตัวเองได้ (แผ่นไม่ต้องใหญ่มากก็ได้) เพื่อทบทวน

ส่วนคำว่า erudition กับ trite ที่ผมยกมาเป็นตัวอย่าง ผมจะขอไม่เฉลยนะครับ แต่จะขอให้คุณนำวิธีที่ผมแนะนำนี้ไปลองใช้กับมันดู แล้วถ้าใช้ได้ผลหรือไม่ได้ผลอย่างไรก็บอกมานะครับ ผมจะได้แนะนำเพิ่มเติมให้ได้

สมัครเป็นสมาชิก ดาวน์โหลดฟรีอีบุ๊ค "ฟอไฟฟุดฟิดอังกฤษอเมริกัน เล่ม 1"

* indicates required
boonhod@hotmail.com
Copyright (C) 2019 by Jakkrit Srivali. All rights reserved. สงวนลิขสิทธิ์ โดย จักรกฤษณ์ ศรีวลี
>
linkedin facebook pinterest youtube rss twitter instagram facebook-blank rss-blank linkedin-blank pinterest youtube twitter instagram