เชิญตามสบาย

"ดูนั่นสิเธอ เขาไม่เกรงใจกันบ้างเลย แซงคิวตัดหน้าเราหน้าตาเฉย ทั้ง ๆ ที่เรามาเข้าแถวก่อนตั้งนาน"

"ไม่ต้องห่วง เดี๋ยวฉันจัดการเอง" มารศรีกระซิบบอกเพื่อน แล้วเดินไปเคาะนิ้วที่ไหล่ชายคนนั้น "Excuse me, but we were in line." = ทานโทษค่ะ แต่เราเข้าคิวรออยู่ก่อน

ชายคนนั้นหันมามองด้วยหางตาแล้วหันกลับไปยังพนักงานขายตั๋ว อ้าปากทำท่าจะสั่งซื้อตั๋ว แต่มารศรีแทรกตัวเองเข้าไปที่เคานเตอร์ บอกพนักงานว่า "Excuse me, but my friend and I were in line before this gentleman." = ทานโทษค่ะ แต่ฉันกับเพื่อนเข้าคิวรออยู่ก่อนสุภาพบุรุษท่านนี้

พนักงานมองหน้าทั้งสองคน แล้วในที่สุดก็บอกชายคนนั้นว่า "Sir, you’ll have to go stand at the back of the line." = ท่านครับ ท่านจะต้องไปยืนต่อท้ายแถว

ชายผู้นั้นหน้ามุ่ยแต่ก็ผละออกไปโดยดี มิวายส่งสายตาเหี้ยมเกรียมมายังมารศรี แต่เธอก็ยิ้มหวานให้

"โอ้โฮ ยอดไปเลย" เพื่อนมารศรีชื่นชมเมื่อซื้อตั๋วเสร็จ "นี่หละมั้งที่เขาว่าฝรั่งไม่รู้จักคำว่าเกรงใจ"

"ทำไมจะไม่รู้จัก เรื่องมารยาทฝรั่งเขาถือเป็นเรื่องสำคัญออก อีตาเมื่อกี้จัดว่าเป็นคนที่ไม่เพียงแต่ inconsiderate = ไม่รู้จักเกรงใจ เท่านั้น แต่ downright rude = ไร้มารยาทสิ้นดี เลยหละ"

"ถ้า inconsiderate แปลว่า ไม่รู้จักเกรงใจ อย่างนั้นคำว่า รู้จักเกรงใจ ก็คงเป็น considerate ใช่ไหม"

"ความจริง considerate มีความหมายมากกว่านั้น มันหมายถึง คำนึงถึงความรู้สึกของคนอื่น สมมุติว่าเราไปเยี่ยมคนรู้จักแล้วเขาเชิญกินอาหารค่ำด้วยกันต่อ แล้วเธอจะตอบปฏิเสธ บอกว่าเกรงใจ เธอจะไม่ใช้คำนี้ แต่จะพูดทำนอง That would be too much of an imposition. = นั่นจะเป็นการสร้างภาระมากเกินไป หรือ I wouldn’t want to impose. = ฉันไม่ปรารถนาที่จะสร้างภาระ ก็ได้"

"อ๋อ แสดงว่าฝรั่งไม่มีคำที่แปลตรงตัวว่า เกรงใจ แต่มีความรู้สึกเกรงใจและมีวิธีพูดของเขาเหมือนกัน แต่อีตาคนเมื่อกี้คงจะเป็นฝรั่งที่ไม่ค่อยมีการอบรม เอ๊ะ แล้วถ้าเจ้าภาพบอกว่าไม่ต้องเกรงใจล่ะ"

"เขาก็อาจจะบอกว่า It would be a pleasure for us to have you at dinner. = เราจะรู้สึกยินดีที่จะมีคุณร่วมอาหารค่ำด้วย โอเค นั่นไม่ได้เป็นการบอกอย่างตรงตัวว่าอย่าเกรงใจ แต่มันก็สปิริตเดียวกัน"

"แล้วอย่าง please feel free ล่ะ ใช้ยังไง แปลว่าไม่ต้องเกรงใจ ใช่หรือเปล่า"

"ใช่ แปลว่า เชิญ ก็ได้ แต่เป็นการเชิญอย่างไม่เป็นเรื่องเป็นราว เช่นสมมุติว่าเธอยืนแจกตัวอย่างขนมที่ศูนย์การค้า เธอก็อาจบอกว่า Please feel free to sample our cookies. = เชิญชิมคุกกี้ของเราสิคะ โอเค ภาษาอังกฤษไม่มีคะขา แต่การใส่คำว่า please เป็นการทำให้มันฟังเพราะและสุภาพขึ้น"

"แต่ feel free จะใช้ในการเชิญร่วมอาหารไม่ได้ เพราะมันเป็นเรื่องเป็นราวมากกว่า งั้นเหรอ"

"ใช่ feel free เป็นการบอกว่า เชิญทำได้ตามสบาย แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าฝ่ายที่เชิญชวนมีความต้องการแรงกล้าเท่ากับการใช้ please เฉย ๆ เช่นถ้าเธอบอกว่า Please sample our cookies. นั่นแปลว่า โปรดชิมคุกกี้ของเรา แสดงว่าเธออยากให้คนชิมคุกกี้เธอจริง ๆ และถ้าเธอบอกว่า I would be honored if you would sample our cookies. นั่นก็ยิ่งเป็นการแสดงความปรารถนาอย่างแรงกล้าใหญ่ เพราะแปลว่า ฉันจะรู้สึกเป็นเกียรติหากท่านจะชิมคุกกี้ของเรา"

(ขอขอบคุณคุณจีระนันท์ฯ ที่เขียน email มาถามเรื่องนี้)

สมัครเป็นสมาชิก ดาวน์โหลดฟรีอีบุ๊ค "ฟอไฟฟุดฟิดอังกฤษอเมริกัน เล่ม 1"

* indicates required
boonhod@hotmail.com
Copyright (C) 2019 by Jakkrit Srivali. All rights reserved. สงวนลิขสิทธิ์ โดย จักรกฤษณ์ ศรีวลี
>
linkedin facebook pinterest youtube rss twitter instagram facebook-blank rss-blank linkedin-blank pinterest youtube twitter instagram