The Right Stuff

และคำถามอื่นๆ จากผู้อ่าน

9-17 พฤษภาคม 2550

The Right Stuff

คุณชินรัตน์ฯ อีเมลมาถามว่า “ผมไม่ได้ถามปัญหากับคุณบ๊อบมานานแล้ว ขอถามปัญหาดังนี้ครับ

“‘The wrong stuff’ สำนวนนี้มีความหมายว่าอย่างไรครับ”

เมื่อปี 2522 Tom Wolfe ได้เขียนหนังสือเล่มหนึ่งชื่อ The Right Stuff ซึ่งได้สร้างเป็นภาพยนตร์ได้รางวัลห้าตุ๊กตาทอง เป็นเรื่องราวเกี่ยวกับมนุษย์อวกาศรุ่นแรกๆ ของสหรัฐฯ

สมัยโน้นการเป็น astronaut (แอสตระหนอท) = มนุษย์อวกาศ ยังไม่ได้เป็นอาชีพเหมือนทุกวันนี้ รัฐบาลต้องคัดคนที่คิดว่าเหมาะที่สุดมาเป็นมนุษย์อวกาศ เพื่อโฆษณาชวนเชื่อว่าระบบอเมริกันเหนือกว่าระบบคอมมิวนิสต์ของสหภาพโซเวียต (โปรดสังเกตนะครับว่ามนุษย์อวกาศของรัสเซียเรียกว่า cosmonaut (คอสหมะหนอท))

คนที่รัฐบาลอเมริกันต้องการเอามาเป็นมนุษย์อวกาศต้องมีคุณสมบัติหลายอย่างด้วยกัน ทั้งเก่งกาจ กล้าหาญ ฟิตปั๋ง ฉลาด ฯลฯ ซึ่งในที่สุดก็คัดมาจากพวก test pilots = นักบินทดลองเครื่องบิน ซึ่งเป็นอาชีพที่เสี่ยงตายมาก เพราะต้องขับเครื่องบินที่ไม่เคยมีใครขับมาก่อน และไม่มี simulator แบบสมัยนี้ที่จะพยากรณ์ได้ว่าลักษณะการบินของแต่ละเครื่องจะเป็นอย่างไร

คุณสมบัติพิเศษทั้งหมดนี้เรียกโดยรวมว่า the right stuff (คงจำได้นะครับว่า stuff สามารถใช้หมายถึงอะไรก็ได้ที่ไม่รู้ว่าจะเรียกว่าอะไร) ดังนั้น the right stuff ก็หมายถึงคุณสมบัติโดยรวมที่เหมาะสมสำหรับภารกิจอันสำคัญ

The wrong stuff ก็น่าจะมีความหมายตรงกันข้ามกับ the right stuff นั่นคือคุณสมบัติที่ไม่เหมาะสมกับภารกิจหรือตำแหน่งหน้าที่ด้วยประการทั้งปวง

Short-List

“Only short-listed candidates will be notified. หมายความว่าเขียนสั้นๆ หรือเปล่าครับ”

เปล่าครับ เวลาคุณสมัครงานหรือสมัครอะไรก็แล้วแต่ คุณมักจะต้องแข่งขันกับ candidates = ผู้สมัครชิงตำแหน่ง อื่นๆ อีกหลายคน ซึ่งต่างคนก็ต่างหวังว่าเขาจะได้รับคัดเลือก ส่วนทางด้านนายจ้างหรือผู้คัดเลือกก็ต้องการคนเพียงตำแหน่งเดียวหรือไม่กี่ตำแหน่ง

ในกรณีที่มีผู้สมัครจำนวนมากกว่าที่ต้องการ ผู้คัดเลือกก็ต้องคัดบัญชีรายชื่อของผู้สมัครให้เหลือเพียงไม่กี่คนที่เขาคิดว่าเป็น strongest candidates = ผู้สมัครที่เก่งที่สุดหรือมีคุณสมบัติมากที่สุด (คำว่า strong ไม่ได้แปลว่าแข็งแรงอย่างเดียวนะครับ)

บัญชีรายชื่อที่คัดเหลือไม่กี่คนนี้เรียกว่า short list ครับ แปลว่า บัญชีรายชื่อขนาดสั้น คนที่มีชื่ออยู่ในบัญชีนี้ถือว่ามีสิทธิ์ลุ้น แต่ผู้รับสมัครอาจจะยังไม่ตัดสินใจว่าจะเอาคนไหนแน่ อาจจะต้องเรียกสัมภาษณ์อีกที

สองคำนี้พอเขียนติดกัน (เป็น shortlist) หรือมียัติภังค์ (เป็น short-list) ก็ทำหน้าที่เป็นกริยา แปลว่า ได้รับการคัดเลือกให้อยู่ในบัญชีรายชื่อสั้น พูดง่ายๆ ก็คือเข้ารอบสุดท้าย

เช่น His book was shortlisted for the Man Booker Prize. = หนังสือของเขาเข้ารอบสุดท้ายในการพิจารณารางวัล Man Booker

ประโยคที่คุณถามก็แปลว่า เราจะแจ้งเฉพาะผู้สมัครที่ผ่านเข้ารอบสุดท้าย ความหมายที่ซ่อนอยู่ในนี้คือถ้าคุณไม่ได้รับแจ้งผล ก็อย่าโทรถามเราให้เสียเวลาเลย เพราะเรายุ่งเกินกว่าที่จะตอบเสียใจผู้ตกรอบทุกคน

Upon หรือ On?

“upon มีความหมายเดียวกับ on หรือไม่ครับ ใช้แทนกันได้หรือไม่ครับ”

Upon (อะพอน) มาจากสองคำครับ คือ up กับ on บางทีก็ใช้สลับกับ on ได้ แต่บางทีก็ไม่ได้

หลักง่ายๆ มีอย่างนี้ครับ ถ้าคำว่า up ไม่สำคัญมากต่อความหมายที่คุณต้องการจะสื่อ ทั้งสองคำใช้แทนกันได้โดยไม่แตกต่างกัน

เช่น He knocked upon the door. หรือ He knocked on the door. ต่างแปลว่า เขาเคาะประตู เหมือนกัน upon hearing the news หรือ on hearing the news ก็ต่างแปลว่า เมื่อได้ยินข่าวนั้น เหมือนกัน

แต่ในโอกาสที่ up มีความสำคัญต่อความหมายที่ต้องการสื่อ (โดยเฉพาะอย่างยิ่งเกี่ยวกับอะไรที่อยู่ข้างบนหรืออยู่สูง) ก็จะใช้ upon

เช่นในหนังการ์ตูนดิสนี่ย์เรื่อง Pinocchio มีเพลงอมตะ When You Wish Upon a Star = เมื่อคุณตั้งอธิษฐานกับดวงดาว

ในเพลง You Needed Me ก็มีเนื้อว่า You put me high upon a pedestal = เธอวางฉันไว้สูงบนฐาน (pedestal หมายถึง ฐาน เช่นฐานรูปปั้น)

ความจริงสำนวนมีอยู่ว่า to put (someone) on a pedestal หมายความว่า รักเทิดทูนบูชา (คงเทียบเท่าได้กับสำนวนไทยว่า “ยกไปวางไว้บนหิ้ง”) แต่ในที่นี้เขาต้องการเน้นความสูงของฐาน จึงใช้ upon

และบ่อยครั้งเราก็จะเจอสำนวนที่บังคับใช้อย่างใดอย่างหนึ่ง เช่น Once upon a time = กาลครั้งหนึ่ง to come upon = พบเจอโดยบังเอิญ to pick on (someone) = กลั่นแกล้ง (ใครบางคน) put (clothing) on = ใส่ (เสื้อผ้า)

Whether or Not

“whether...or มีความหมายเดียวกับ or หรือไม่ครับ ใช้แทนกันได้หรือไม่ครับ”

ภาษาอังกฤษที่ดีไม่นิยมใช้คำฟุ่มเฟือยครับ ดังนั้นเราอาจสันนิษฐานไว้ก่อนเลยว่าถ้า whether…or กับ or มีความหมายเหมือนกัน ใช้แทนกันได้ เราก็คงจะเห็นคนใช้แต่ or คำเดียวแล้ว

Whether…or แปลว่า ไม่ว่า…หรือ ในกรณีที่มีสองอย่างให้เลือก โดยอาจจะไม่เลือกก็ได้ คือเอาหมด เช่น He likes girls. Whether thin or fat, tall or short, pretty or plain, he likes them all. = เขาชอบสาวๆ ไม่ว่าผอมหรืออ้วน สูงหรือเตี้ย สวยหรือธรรมดา เขาชอบหมด

อีกรูปแบบหนึ่งคือใช้ในประโยคบอกเล่าที่มีคำถามว่าจะเลือกอะไรดีระหว่างสองอย่าง เช่น I was wondering whether I should go out with Peter or Harry. = ฉันคิดถามตัวเองอยู่ว่าฉันควรจะไปกับปีเตอร์หรือแฮรี่ดี

แล้วก็ยังมี whether or not อีกครับ ซึ่งอาจจะใช้ติดกันหรือแยกระหว่าง whether…or not ก็ได้ เช่น That’s the way outsiders see Thailand, whether you like it or not (หรือ whether or not you like it). = คนภายนอกมองเมืองไทยเป็นอย่างนั้น (แปลตรงตัวคือ นั่นคือวิธีที่คนภายนอกมองเมืองไทย) ไม่ว่าคุณจะชอบ (ที่จะให้เป็นอย่างนั้น) หรือไม่

ถ้าใช้ or ก็จะมีความหมาย หรือ หรือ มิฉะนั้น เช่น You’re going to vote for the constitution, or we are going to give you one you like even less. = คุณจะต้องลงคะแนนสนับสนุนรัฐธรรมนูญ ไม่อย่างนั้นแล้วเราจะให้คุณฉบับที่คุณชอบน้อยกว่านี้อีก

Whose

“Ashley, whose last name has not been made public, is in a permanent infant-like state because of a brain injury. ขีดเส้นใต้หมายความว่าอย่างไรครับ”

ถ้าเราจะทำแบบที่เห็นกันบ่อยๆ ก็จะแปลเป็นไทยว่า “ซึ่งนามสกุลของเธอยังไม่ได้เปิดเผยต่อสาธารณะ”

แต่ผมรู้สึกว่าการใช้ “ซึ่ง” แบบนี้เป็นการขอร้องให้คำเล็กๆ คำนี้แบกภาระมากเกินไป แถมยังไม่สละสลวยอีกด้วย

เพราะจริงๆ แล้ว “ซึ่ง” ตรงกับคำว่า which และไม่ว่าจะอย่างไร whose last name ก็มิอาจแปลงเป็น which her last name ได้

วิธีใช้ which ก็คือใช้ทำหน้าที่แทนนามโดยตรง เช่น The national religion of Thailand is Buddhism, which is odd, considering that very few Thais live by its precepts. = ศาสนาประจำชาติของประเทศไทยคือศาสนาพุทธ ซึ่งก็แปลกดี เพราะคนไทยน้อยมากยึดหลักของมันในการดำรงชีวิต

ส่วน whose นั้น จะอ้างถึงสิ่งที่เป็น “ของ” นามหลัก หรือถ้าจะแปลก็คงแปลได้ว่า “ผู้เป็นเจ้าของ (บางอย่าง) ซึ่ง”

เช่นประโยคที่คุณยกมาก็แปลได้ว่า “แอชลี่ย์ ผู้เป็นเจ้าของนามสกุลซึ่งยังไม่เปิดเผยต่อสาธารณะ อยู่ในสภาพเสมือนเด็กทารกอย่างถาวรโดยเป็นผลจากการบาดเจ็บสมอง”

โดยที่ whose ทำหน้าที่แสดงความเป็นเจ้าของ แม้แต่ฝรั่งเองก็มักจะใช้ผิด เขียนเป็น who’s โดยเข้าใจว่าใช้หลักเดียวกันกับ ’s ที่เติมท้ายนามเวลาต้องการแสดงความเป็นเจ้าของ เช่น my father’s car = รถยนต์ของพ่อฉัน

สมัครเป็นสมาชิก ดาวน์โหลดฟรีอีบุ๊ค "ฟอไฟฟุดฟิดอังกฤษอเมริกัน เล่ม 1"

* indicates required
boonhod@hotmail.com
Copyright (C) 2019 by Jakkrit Srivali. All rights reserved. สงวนลิขสิทธิ์ โดย จักรกฤษณ์ ศรีวลี
>
linkedin facebook pinterest youtube rss twitter instagram facebook-blank rss-blank linkedin-blank pinterest youtube twitter instagram